สโมสร ‘บิ๊กเทค’ อุ่นหนาฝาคั่ง

บรรดา “บิ๊ก เทค” ยังสามารถฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างสบาย ๆ และยังมีบริษัทที่มีมูลค่าตลาดแตะล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ


ในขณะที่หลายอุตสาหกรรมต้องล้มละลาย หรือบางรายถึงกับล้มหายตายจากไปเลย หรือยังคงโซซัดโซเซเพราะโควิดมาจนถึงบัดนี้ แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดา “บิ๊ก เทค” ยังสามารถฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างสบาย ๆ และยังมีบริษัทที่มีมูลค่าตลาดแตะล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากข้อมูลเมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน ไมโครซอฟท์มีมูลค่าตลาดมากสุดในโลกที่ 2.523 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมากกว่า แอปเปิล อิงค์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.482 ล้านล้านดอลลาร์ในวันเดียวกัน

บริษัทอื่น ๆ ที่มีมูลค่าตลาดเฉียด 2 ล้านล้านดอลลาร์ ได้แก่ อัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล โดยมีมูลค่าตลาดในวันเดียวกัน 1.981 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ อเมซอนตามมาติด ๆ ที่ 1.785 ล้านล้านดอลลาร์

แต่บริษัทที่มาแรงแซงโค้งจนมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้าน ดอลลาร์มาหมาด ๆ คือ “เทสลา อิงค์” ของ อีลอน มัสก์ซึ่ง นับตั้งแต่นั้นมา มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.25 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะนี้ มูลค่าตลาดของทั้งห้าบริษัทนี้รวมกันก็มีมูลค่าเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งมีสัดส่วนเกือบหนึ่งในสี่ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 41.8 ล้านล้านดอลลาร์ของบริษัทที่อยู่ในดัชนีเอสแอนด์พี 500

มีความเป็นไปได้ว่า ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อาจมี 6 บริษัทที่มีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์ในเวลาเดียวกัน หาก “เมตา แพลตฟอร์ม” หรือ ชื่อเก่าว่า “เฟซบุ๊ก” ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง จากที่ในขณะนี้มีมูลค่าตลาดที่ประมาณ 930,000 ล้านดอลลาร์

แต่เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่บริษัททั้ง 6 แห่งนี้ อาจมีมูลค่าตลาดบริษัทละอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์ในเร็ว ๆ นี้ และในที่สุด ไมโครซอฟท์และแอปเปิล จะมีมูลค่าตลาดแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์

ยังมีบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะมีมูลค่าตลาดเข้าใกล้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ อาทิ เอ็นวิเดีย ผู้นำในธุรกิจชิพ และ เทนเซนต์ ซึ่งเป็นบริษัท บิ๊กเทคของจีน

ก่อนหน้านี้ หลายคนแทบจะคิดไม่ถึงว่า จะมีบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์มากเช่นนี้ แต่การเติบโตของกำไรอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นบิ๊กเทคปรับตัวสูงขึ้นไม่หยุด

แต่ความต้องการหุ้นเทคโนโลยีที่ไม่รู้จักพอของนักลงทุน ก็ได้ทำให้ นักวิเคราะห์ตลาดบางคน หวนนึกถึงยุคฟองสบู่ในตลาดแนสแดกในช่วงปี พ.ศ. 2542 และต้นปี 2543

รายงานในเดือนนี้ของ ไมค์ โอโรค หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดของ โจนส์ เทรดดิ้ง ได้เตือนว่า การดีดตัวของหุ้นเทสลาชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวของหุ้นซิสโก้เมื่อปี 2543 ซึ่งถือเป็นหุ้นฟองสบู่ใหญ่สุดในปีนั้น

ราคาหุ้นซิสโก้ พุ่งขึ้นประมาณ 50% ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2543 และในตอนนั้นนักวิเคราะห์ของเครดิตสวิสคาดการณ์ว่า ซิสโก้จะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดถึงล้านล้านดอลลาร์เป็นรายแรกของโลก

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หุ้นซิสโก้มีมูลค่าประมาณ 550,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ในช่วงที่มีความบ้าคลั่งหุ้นเทคโนโลยีอย่างรุนแรงเมื่อยี่สิบปีก่อน แต่ในขณะนี้ บริษัทมีมูลค่าตลาดประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ยังมีตัวอย่างจากหุ้นอินเทลอีกเช่นกัน ในช่วงปลาย ๆ ทศวรรษที่ 90 อินเทลเป็นบริษัทเทคโนโลยีแถวหน้า แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บริษัทยังต้องกระเสือกกระสนและจนบัดนี้ยังมีมูลค่าตลาดห่างไกลจากช่วงที่มีการประเมินมูลค่าสูงสุดในปี 2543 มาก

สองตัวอย่างนี้อาจเป็นการพิสูจน์ได้ว่า การขึ้นเป็นแชมป์ มันง่ายกว่าการรักษาแชมป์ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ไมโครซอฟท์ แอปเปิล อัลฟาเบต และแม้แต่ “เทสลา” จะยังคงรักษามูลค่าตลาดไว้สูงสุดได้

มันอาจมีบริษัทและเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากสุดในโลกและเมื่อถึงช่วงต้นปี 2573 มันอาจแตกต่างจากปี 2564 มาก

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เฟซบุ๊กต้องรีแบรนด์ตัวเองเพื่อเป็นมากกว่า แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย และหันมาเดิมพัน กับ “Metaverse”

พัฒนาการที่เกิดขึ้น อาจชี้ได้ว่า ในสโมสร “บิ๊กเทค” สมาชิกไม่อาจเคลิบเคลิ้มและพึงพอใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ตลอดไป  แต่ต้องเร่งหาทางเร่งสร้างนวัตกรรมและคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อที่จะทิ้งห่างเพื่อนร่วมสโมสร ให้ตามไม่ทันอยู่ตลอดเวลา จึงจะยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าได้อย่างมั่นคง

สัจธรรมนี้ ยังใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมและทุกธุรกิจ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมีวิถีชีวิตใหม่หรือไม่ก็ตาม

Back to top button