SMK กระจุกความเสี่ยง.!

ธุรกิจประกันค่อนข้างเสถียร...ที่เห็นอาการหนักสุดคงไม่พ้น SMK ที่พลิกมาขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ 3,662 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 160 ล้านบาท


เห็นบริษัทประกันภัยเปิดงบงวดไตรมาส 3/2564 ออกมาไม่สวยสดงดงามเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจประกันค่อนข้างเสถียร…ซึ่งที่เห็นอาการหนักสุดคงหนีไม่พ้นบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ที่พลิกมาขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ 3,662 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 160 ล้านบาท

สาเหตุก็มาจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหนักหนาสาหัส 6,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,265 ล้านบาท หรือ 339.36% โดยเฉพาะค่าสินไหมทดแทนโควิดที่มากถึง 6,002 ล้านบาท รวมทั้งสินไหมทดแทนประเภทอื่น ๆ อีกราว 812 ล้านบาท

ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตัวเลขนี้หรือเปล่า..? ที่ทำให้ SMK ยอมเอาชื่อเสียงของบริษัท และแบรนด์ที่สั่งสมมากว่า 70 ปี มาเสี่ยง…ด้วยการประกาศยกเลิกประกันโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ จนกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ มาแล้ว…แต่สุดท้ายต้องกลืนเลือดตัวเอง รับประกันโควิดต่อ…เลยเป็นที่มาของการขาดทุนมโหฬารอย่างที่เห็น

กรณีของ SMK ถือเป็นบทเรียนที่น่าศึกษา…ถ้าดูจากค่าสินไหมทดแทนโควิด 6,002 พันล้านบาท บ่งบอกว่า กรมธรรม์ประกันโควิด SMK  รับไว้เองหมด ไม่ได้ทำประกันภัยต่อหรือเปล่า..?

เป็นไปได้ว่า 1) SMK อยากกินรวบ ไม่อยากกินแบ่ง…เนื่องจากเคยอิ่มหมีพีมันเมื่อช่วงปี 2563 มาแล้ว ตอนนั้นลูกค้าทำประกันโควิดกันเยอะ แต่มียอดเคลมประกันน้อย เลยรับเนื้อ ๆ เน้น ๆ…ขณะที่ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาต้นปี 2564 ผู้ติดเชื้อโควิดก็ยังไม่สูง แล้ววัคซีนก็เริ่มเข้ามาแล้ว ก็เลยไม่ทำประกันภัยต่อ คงกะจะเก็บไว้กินคนเดียวอีกนั่นแหละ

แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน…โควิดระบาดหนัก ทำให้ยอดเคลมประกันสูงขึ้น ดังนั้น แทนที่จะกระจายความเสี่ยง ก็เป็นกระจุกความเสี่ยงแทน ต้องแบกความเสี่ยงไว้เจ้าเดียว..!!

หรือ 2) SMK ก็อยากทำประกันภัยต่ออ่ะนะ แต่อาจคิดช้า…ทำช้าไปหน่อย…สถานการณ์โควิดเริ่มลุกลามไปไกลแล้ว ทำให้ไม่มีบริษัทไหนมารับประกันภัยต่อ…SMK จึงต้องแบกความเสี่ยงไว้ทั้งหมด…

แต่ก็น่าคิดว่า ถ้าไปดูบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่อยู่ในเทียร์เดียวกัน เป็นประกันประเภทเดียวกัน ทำไมสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ค่อนข้างดี ถอนตัวได้ทัน…บางบริษัทปรับรูปแบบประกันโควิดใหม่ จากเดิมเป็นแบบ เจอ จ่าย จบ อาจเหลือแค่คุ้มครองภาวะโคม่าจากโควิดเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเสี่ยง…ก็เลยไม่เจ็บหนักเหมือน SMK

สิ่งที่น่าติดตาม ต้องไปดูอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ Capital Adequacy Ratio ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ชี้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันภัยของ SMK จะเหลือเท่าไหร่..? จะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่..? ไม่งั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเงินที่ยุ่งยากมากขึ้น..!?

ก็ชักเริ่มเห็นเค้าลาง..หลังจากในหมายเหตุงบการเงินของ SMK ระบุว่า มติบอร์ดเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 อนุมัติให้แต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินแห่งหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญ เรื่องการเพิ่มทุน เพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการเพิ่มทุน เพื่อรองรับผลกระทบต่อผลประกอบการจากค่าสินไหมโควิดที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น

ขณะที่ถ้าไปดูจำนวนกรมธรรม์ประกันโควิดของ SMK ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่ยังมีผลบังคับอยู่จำนวน 2 ล้านกรมธรรม์ โดย 99% ของกรมธรรม์ จะครบกำหนดอายุกรมธรรม์ภายในเดือน เม.ย. 2565 โดยสินไหมที่ใช้คาดการณ์สินไหมโควิดในอนาคตประมาณ 82,000–83,000  บาท

ต้องบอกเลยว่า สถานการณ์ดูไม่จืดเลยทีเดียว…

นี่ไม่นับรวมในแง่ราคาหุ้นก็หนักหน่วงเหมือนกัน…เพราะตั้งแต่วันที่ SMK ประกาศบอกเลิกประกันโควิด (16 ก.ค. 2564) จนถึงวันนี้มาร์เก็ตแคปหายไปแล้วกว่า 2,650 ล้านบาท

เข้าทำนองประเมินโควิดผิด…ชีวิตเปลี่ยนจริง ๆ นะเนี่ย…

…อิ อิ อิ…

Back to top button