เหตุผลที่เลือก ‘พาวเวลล์’

ถ้าเป็นผู้นำประเทศที่การเมืองยังล้าหลัง ถือประโยชน์แห่งพรรคมากกว่าประโยชน์ของชาติและประชาชน ไม่มีทางที่จะมีการแต่งตั้ง “เด็กนอกพรรค”ได้เลย


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจเสนอชื่อ เจอโรม พาวเวลล์เป็น ประธานธนาคารกลางสหรัฐอีกสมัยทั้งที่มีการคัดค้านจากวุฒิสมาชิกภายในพรรคเดโมแครตส่วนหนึ่ง ก็น่าจะมองได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญและสามารถก้าวข้ามแรงกดดันทางการเมืองได้ เพราะถ้าเป็นผู้นำประเทศที่การเมืองยังล้าหลัง ถือประโยชน์แห่งพรรคมากกว่าประโยชน์ของชาติและประชาชน ไม่มีทางที่จะมีการแต่งตั้ง “เด็กนอกพรรค”ได้เลย

พาวเวลล์ได้เป็นประธานเฟดเพราะการแต่งตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน เมื่อปี 2561 แต่ก็ถูกทรัมป์โจมตีตลอดเวลาหลังจากที่เขาได้ขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง ขณะที่ลาเอล เบรนาร์ดได้ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางสหรัฐเพราะบารัก โอบามาจากพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2557

ไบเดนให้เหตุผลในการเสนอชื่อพาวเวลล์ แทน เบรนาร์ด ที่วุฒิสมาชิกคนสำคัญในพรรคเดโมแครตเชียร์ว่า เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะทำให้สหรัฐฯ ผ่านการฟื้นตัวจากโควิดและต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ยังต้องการให้ธนาคารกลางสหรัฐมีความมั่นคงและเป็นอิสระซึ่งพาวเวลล์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขายืนหยัดต่อสู้กับการแทรกแซงทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ และการทำเช่นนั้น เป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์แบบและความน่าเชื่อถือ

ในทางกลับกันมีการมองกันว่า เบรนาร์ดเกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่า โดยเคยบริจาคเงินให้กับการหาเสียงเลือกตั้งของฮิลลารี คลินตันเมื่อปี 2559

ก่อนที่ไบเดนจะตัดสินใจเสนอชื่อพาวเวลล์ไม่กี่วัน สองวุฒิสมาชิกหัวก้าวหน้าสองคนของพรรคเดโมแครต คือ เชลดอน ไวต์เฮาส์ จาก โรดไอส์แลนด์ และเจฟฟ์ เมิร์กลีย์ จากโอเรกอน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน คัดค้านการแต่งตั้งพาวเวลล์ใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ดำเนินนโยบายเพียงพอที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น นอกเหนือจากเรื่องเสถียรภาพทางการเงินและจุดยืนเรื่องระเบียบ

ก่อนหน้านั้น วุฒิสมาชิก อลิซเบธ วอร์เรน ก็เป็นวุฒิสมาชิกคนแรกที่ออกมาต่อต้านการแต่งตั้งพาวเวลล์ โดยเมื่อเดือนกันยายนเธอกล่าวว่า พาวเวลล์ เป็น “คนอันตราย” ที่จะเป็นผู้นำเฟด

เพราะเสียงคัดค้านพาวเวลล์ ภายในพรรค ไบเดนจึงได้เสนอชื่อ เบรนาร์ดเป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ชั้นเชิงทางการเมืองที่ถือว่า “เก๋า” ไม่เบา เพราะน่าจะช่วยลดความไม่พอใจในพรรคเดโมแครตลงได้

เมื่อมองในแง่นโยบาย มีความเห็นส่วนใหญ่ว่า พาวเวลล์และ เบรนาร์ด มีแนวนโยบายไม่ต่างกันมาก ทั้งสองคนมีความอดทนต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงได้ โดยมีเป้าหมายที่จะปล่อยให้ตลาดงานมีเวลามากขึ้นในการเยียวยาการแพร่ระบาดของโควิด แต่ที่ต่างกันคือ เบรนาร์ดมีท่าทีที่แข็งกร้าวเกี่ยวกับระเบียบธนาคาร และต้องการให้เฟดมีบทบาทในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศและยังเปิดกว้างต่อเงินคริปโท มากกว่าพาวเวลล์

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ต้องการให้พาวเวลล์ทำหน้าที่ต่อมากกว่า เนื่องจากมองว่า ความท้าทายต่าง ๆ ที่เฟดและ เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญในขณะนี้ ต้องการ “ความต่อเนื่องทางนโยบาย” มากกว่าเรื่องอื่น

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่พาวเวลล์ได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตสายกลางเท่านั้น เขายังเป็นที่เคารพนับถือในวอลล์สตรีต และนักลงทุนก็พอใจกับกลยุทธ์การสื่อสารของเขามาก

การเปลี่ยนไปเสนอชื่อเบรนาร์ด จะเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับกระบวนการแต่งตั้งในวุฒิสภา ซึ่งอาจทำให้ตลาดสั่นคลอน และจะเพิ่มความซับซ้อนในการสร้างความมั่นใจที่ยากอยู่แล้วให้กับนักลงทุนที่มีความกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกนโยบายฉุกเฉินที่ได้ทำในช่วงโควิดระบาด

นักวิเคราะห์สรุปว่า ในที่สุดทำเนียบขาวก็มีตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุด การเลือกพาวเวลล์ทำให้เกิดความต่อเนื่องของผู้นำซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดชอบ และยังทำให้ทำเนียบขาวได้รับชัยชนะในการรับรองในสภาได้อย่างรวดเร็วและไม่ยากนัก นอกจากนี้ การเลือกพาวเวลล์ทำให้ไบเดนสามารถส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเขาให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของเฟด ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อไบเดนมากเนื่องจากขณะนี้คะแนนนิยมกำลังตก

ในสมัยแรกของพาวเวลล์ นอกจากจะคาดการณ์เงินเฟ้อผิดแล้ว ยังถูกโจมตีเมื่อเร็ว ๆ นี้หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวทางจริยธรรมที่เจ้าหน้าที่หลายคนมีส่วนร่วมในการซื้อขายหุ้นในช่วงเวลาที่เฟดดำเนินการตามนโยบายอุดหนุนตลาด นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังยอมรับว่า เขาถือพันธบัตรเทศบาล ซึ่งเฟดก็กำลังซื้อเช่นกัน และยังซื้อและขายกองทุนที่เชื่อมโยงกับดัชนีตลาดหุ้นด้วย

แต่โดยรวมแล้ว ผลงานในสมัยแรกของพาวเวลล์ถือว่าดีกับคอหุ้น ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 11% ต่อปี ทำให้เขาเป็นหนึ่งในประธานเฟดจำนวน 16 คน นับตั้งแต่ปี 2457 ที่ทำให้ดาวโจนส์พุ่งแรง เทียบกับที่ดีดตัวเฉลี่ยต่อปี 8.5% ภายใต้การบริหารของประธานเฟดทั้งหมด

นักเศรษฐศาสตร์ให้เครดิตว่า พาวเวลล์ ตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในการรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและได้ระงับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว และการลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงช่วยให้บริษัทและบุคคลทั่วไปกู้ยืมเงินเพื่อไปสร้างโรงงานใหม่ หรือ ซื้อบ้านหรือรถยนต์ได้ง่ายขึ้น

ไมค์ เฟโรลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่เจพีมอร์แกน กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของพาวเวลล์ เฟดได้ให้ความสำคัญกับการทำให้เศรษฐกิจมีการจ้างงานสูงสุดซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าสนับสนุนมายาวนานและน่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายของไบเดน

มีการคาดการณ์หลังการเสนอชื่อพาวเวลล์ใหม่ว่า การลดโครงการซื้อพันธบัตรน่าจะเสร็จสิ้นเร็วขึ้น และเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเช่นกัน  โดยในขณะนี้คาดว่าเฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีหน้า และนั่นเป็นเหตุผลให้หุ้นปรับตัวลงในเวลาต่อมาหลังจากที่ดีดตัวตอบรับในตอนแรก

แต่นักลงทุนไม่ต้องตกใจ ข้อมูลในอดีตชี้ว่า หกเดือนแรกหลังจากเฟดได้ประธานคนใหม่ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยเกือบ 4% และเพิ่มขึ้นสองในสามของเวลานั้น ถ้าอดีตเป็นตัวชี้นำใดๆได้ หลังรับตำแหน่งในสมัยที่สองในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ตลาดหุ้นก็น่าจะยังไม่เสียแรงส่งมาก ถ้าสถานการณ์โควิดไม่กลับมาเลวร้ายอีกครั้ง

Back to top button