
AOTGA เต็งหนึ่งชิงงานคาร์โก้-ภาคพื้นสุวรรณภูมิ 6.7 หมื่นลบ. ลุ้นผลส.ค.นี้! BA วางเกมสู้
AOTGA ตัวเต็งชนะประมูลงานบริการภาคพื้นและโครงการให้บริการคาร์โก้สุวรรณภูมิรายที่ 3 วงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท ประกาศผลเดือน ส.ค.นี้ “ผู้บริหาร” ลั่นพร้อมลงแข่งผู้ประกอบการรายที่ 2 ต่อ ทั้งคาร์โก้และงานภาคพื้น แค่รอดูเงื่อนไขชัดเจนก่อน ขณะที่ BA ตั้งป้อมสู้! รักษาฐานเดิม มั่นใจประสบการณ์ 20 ปี เหนือคู่แข่ง
นายสิริวัฒน์ โตวชิรกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 2 โครงการ มูลค่ารวม 67,305 ล้านบาท คือโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 29,390.76 ล้านบาท และโครงการให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 37,914.56 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ได้ทำการเปิดข้อเสนอซองที่ 1 (คุณสมบัติ) ทั้ง 2 โครงการของผู้ยื่นข้อเสนอแล้ว ปรากฏว่ามี 2 ราย ที่ผ่านข้อเสนอซองที่ 1 ทั้ง 2 โครงการ คือ AOTGA กับบริษัท แบ็กส์บริการภาคพื้น จํากัด (ถือหุ้น 100% โดยนายสุรวุฒิ เชิดชัย ทายาท “เจ๊เกียว” จินดา เชิดชัย เจ้าของอู่ต่อรถทัวร์เชิดชัย)
ขณะที่ล่าสุดทราบว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2 (เทคนิค) แล้ว แต่ยังมิได้แจ้งมาว่ามีรายใดที่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคบ้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์ และหาก AOTGA ผ่านข้อเสนอทางเทคนิคก็จะต้องเข้าไปชี้แจงการดำเนินงานด้านเทคนิคที่นำเสนอดังกล่าวต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก่อนที่จะเปิดข้อเสนอ ซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ซึ่งเป็นซองสุดท้ายต่อไป โดยประเมินว่าน่าจะได้ตัวผู้รับงานในเดือนสิงหาคม 2568
โดยผู้จัดการใหญ่ AOTGA กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก AOTGA ได้รับงานทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะต้องเตรียมเงินลงทุนรวม 2 โครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่ง AOTGA มีความพร้อมทั้งกระแสเงินสด และเครดิตที่ดี ซึ่งจะสามารถกู้สถาบันการเงินเพิ่มเติมได้
สำหรับ AOTGA มีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถือหุ้น 49% และบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ถือหุ้นใน AOTGA ผ่านบริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ SAL อีก 51%
ทั้งนี้โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ ของผู้ประกอบการายที่ 3 จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Net Cost (เอกชนแบ่งรายได้-ผลประโยชน์แก่รัฐ) โดยภาครัฐรับผิดชอบในการจัดหาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการและกำกับดูแลติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาเงินทุน ออกแบบ และก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการให้บริการตามมาตรฐาน บริหารจัดการโครงการตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ AOT กำหนด
ส่วนเงินลงทุนตามโครงการจะมาจากเอกชนทั้งหมด 29,390.76 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง เครื่อง จักรอุปกรณ์ 1,608.76 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 27,782.01 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 25 ปี มีขอบเขตการดำเนินงาน ในกลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น อาทิ บริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน การขนถ่ายเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ ขนถ่ายและเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือ และกลุ่มบริการอื่น ๆ
ด้านโครงการให้บริการคาร์โก้ฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 จะเป็นการลงทุนแบบ PPP Net Cost เช่นกัน โดยฝ่ายรัฐรับผิดชอบจัดหาที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการและกำกับดูแลการดำเนินการของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่จัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ บำรุงรักษา บริหารจัดการโครงการคลังสินค้าตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ AOT กำหนด เงินลงทุนตามโครงการมาจากเอกชนทั้งหมด 37,914.56 ล้านบาท แยกเป็น ค่าลงทุนสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์และระบบ รวม 1,318.38 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 36,596.18 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 ปี ขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมทั้งคลังสินค้าขาเข้า คลังสินค้าขาออก คลังสินค้าถ่ายลำ สินค้าเน่าเสียง่าย สินค้าเร่งด่วนและสินค้า อี-คอมเมิร์ซ
นายสิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณี AOT เตรียมเปิดประกวดราคาช่วงปลายปีนี้ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการให้สิทธิประกอบกิจการการให้บริการคาร์โก้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 และโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นและการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 2 ว่า AOTGA มีความสนใจเข้าแข่งรับงานทุกโครงการ
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังรอดูผลคัดเลือกผู้ประกอบการรายที่ 3 ก่อนว่า AOTGA จะชนะการคัดเลือกหรือไม่ และหากชนะต้องรอดูเงื่อนไขของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก่อนว่า AOTGA จะสามารถเข้าแข่งขันการคัดเลือกรายที่ 2 ได้หรือไม่ รวมทั้งความเหมาะสมด้านเงินต่าง ๆ ซึ่งต้องรอดูเงื่อนไขการคัดเลือก (RFP) ที่ชัดเจนก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการให้บริการคาร์โก้ฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 มีมูลค่าโครงการ 15,253 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 ปี นับจากวันส่งมอบพื้นที่ รูปแบบการลงทุนจะเป็น PPP ประเภท Net Cost โดยเอกชนมีหน้าที่จัดหาเงินทุนเพื่อลงทุนสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และระบบ รวมทั้งดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ส่วนภาครัฐมีหน้าที่จัดหาที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการและกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2
ทั้งนี้ เอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ และเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง โดยจะต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐเป็นรายปีตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งได้กำหนดให้เอกชนจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนโดยเปรียบเทียบกันระหว่างค่าส่วนแบ่งรายได้ 10% ของรายได้ต่อเดือน และค่าตอบแทนขั้นต่ำในจำนวนที่แน่นอน (เอกชนจะเป็นผู้เสนอในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ให้เอกชนจ่ายให้ภาครัฐในรายการที่มีมูลค่าสูงกว่า
สำหรับประมาณการรายได้โครงการ ทางเอกชนจะมีรายได้ตลอดอายุโครงการ 20 ปี ประมาณ 42,205.17 ล้านบาท, ประมาณการค่าใช้จ่ายโครงการ พบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 อยู่ที่ 34,161.76 ล้านบาท คือ ค่าลงทุนสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และระบบ 1,120 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา 33,041.76 ล้านบาท
ส่วนโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 มีมูลค่าโครงการกว่า 9,000 ล้านบาท รูปแบบการร่วมลงทุน คือ PPP Net Cost มีระยะเวลาโครงการ 20 ปี นับจากวันส่งมอบพื้นที่ ขอบเขตการให้บริการ แบ่งเป็น 1. กลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นที่ต้องให้บริการแก่สายการบิน เช่น กลุ่มบริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน กลุ่มบริการขนถ่ายและเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้า และไปรษณียภัณฑ์ 2. กลุ่มบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การให้บริการการจัดการทั่วไปด้านภาคพื้น การให้บริการด้านผู้โดยสาร
โดยการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งเอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการของผู้ประกอบการรายที่ 2 และเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง โดยเอกชนต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐเป็นรายปีตามเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้ปัจจุบันกิจการการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (GSE) และกิจการการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (PHS) ทาง AOT ได้พิจารณาให้สิทธิการประกอบกิจการแยกกัน ดังนี้ กิจการ GSE ให้สิทธิการประกอบกิจการผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยสิ้นสุดสัญญาปี 2583 และ 2. บริษัท บริการภาคพื้นกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (มีบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 98.88%) สิ้นสุดสัญญาปี 2569
ส่วนทางนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า สนใจเข้าร่วมการแข่งขันรับงานกิจการการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และกิจการการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้รับงานรายที่ 2 อยู่แล้ว พร้อมเข้าแข่งประมูลรับงานในครั้งนี้ และมั่นใจว่า BA มีประสบการณ์ มีศักยภาพ มีความคุ้นเคยกับสภาพสนามบิน เพราะเป็นผู้ให้บริการงานดังกล่าวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมา 20 ปี นับแต่สนามบินเปิดบริการแล้ว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าคู่แข่ง
สำหรับกิจการ PHS ให้สิทธิการประกอบกิจการกับผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ 1. THAI สิ้นสุดสัญญาปี 2583 2. บริษัท บริการภาคพื้นกรุงเทพเวิลด์ไวด์ฯ สิ้นสุดสัญญาปี 2564 และ 3. บริษัท ลุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด สิ้นสุดสัญญาปี 2564 ซึ่งรายที่ 2-3 นั้น ปัจจุบัน AOT ได้ต่ออายุสัญญาชั่วคราวไปจนกว่าจะได้ผู้ประกอบการจากการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม ในการจัดหาผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ครั้งนี้ จะครอบคลุมการดำเนินกิจการทั้ง GSE และ PHS เพื่อเพิ่มผู้ประกอบการในกิจการ PHS ให้มีความเหมาะสม