สกัดขาขึ้น..ปล่อยขาลง

เสร็จสิ้นกระบวนความการรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่มเรื่อง “การปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย” จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)


เสร็จสิ้นกระบวนความการรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่ม (Focus Group) ว่าด้วยเรื่อง “การปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย” จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีผู้ให้ความคิดเห็นรวม 228 ราย จากบริษัทหลักทรัพย์ 66 ราย, บริษัทจดทะเบียน 73 ราย, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 4 ราย, นักลงทุนทั่วไป 83 ราย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) โดยส่วนใหญ่มีความเห็นในทางเดียวกันว่า “เห็นด้วย” กับเรื่องดังกล่าว

เริ่มจากเรื่อง “การปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย” ที่หลายฝ่ายเห็นด้วย แต่มีข้อเสนอว่าควรมีการแจ้งผู้ลงทุนให้เร็วขึ้นก่อนใช้มาตรการฯ หรือว่ามี Application เพื่อแจ้งเตือนผู้ลงทุนให้ทราบล่วงหน้าและเพื่อมีเวลาเตรียมตัว พร้อมเพิ่มมาตรการสำหรับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำ และมี Market Cap ขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อดัชนีหลักทรัพย์มากกว่าหลักทรัพย์ขนาดเล็กและควรเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายฯ และให้ดำเนินการกำกับหลักทรัพย์ที่ราคาปรับลดลงมากด้วย ที่สำคัญส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการลงทุนที่ไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐาน

ตามด้วยการรวบมาตรการระดับ 1 และ 2 เข้าด้วยกันและให้เริ่มมาตรการระดับ 1 ด้วยการให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance และห้ามนำหลักทรัพย์ที่กำหนดมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย โดยส่วนใหญ่ “เห็นด้วย” แต่มีข้อเสนอว่า ควรห้าม Net Settlement และหยุดพักการซื้อขายตั้งแต่มาตรการระดับ 1 เพื่อให้มีความกระชับและรวดเร็วช่วงร้อนแรง ควรจำกัดวงเงินบัญชีและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (Commission) หลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายให้สูงกว่าปกติ หรืออาจปรับลด Ceiling & Floor ก็ได้

ส่วนการเพิ่มการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วันทำการ เป็นมาตรการระดับ 3 ส่วนใหญ่ “เห็นด้วย” เพราะถือว่ามีความเท่าเทียมกันและช่วยลดความร้อนแรงได้ แต่มีข้อเสนอว่าควรประสานงานมิให้กระทบต่อการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG) ของบริษัทจดทะเบียนพร้อมกับสื่อสารและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเป็นมาตรการกำกับการซื้อขายมิได้เกิดจากบริษัทจดทะเบียนฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และควรห้ามซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่า 1 วัน ด้วยการกำหนดตามระดับความร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางราย “ไม่เห็นด้วย” ด้วยเหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวอาจไม่สามารถจะทำให้ภาวะการซื้อขาย หลักทรัพย์กลับสู่ภาวะปกติได้ และอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์บริษัทจดทะเบียน ที่ถูกห้ามซื้อขาย รวมทั้งอาจเป็นการริดรอนสิทธิของผู้ลงทุนที่เข้ามาซื้อขายปกติไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะการซื้อขายที่ผิดปกตินั้น ๆ

เป็นอันว่าผลจากทำ Focus Group ดังกล่าวมาตรการกำกับการซื้อขาย (ฉบับแก้ไข) คงจะมีการประกาศใช้ในอีกไม่ ช้านี้..หรืออาจเริ่มใช้ใน “ปีเสือ” กันเลยก็เป็นได้

อีกมุมต่างที่น่าสนใจ…คือข้อเสนอ “ให้ดำเนินการกำกับหลักทรัพย์ที่ราคาปรับลดลง” ด้วย นั่นหมายถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะมี “มาตรการบรรเทาหุ้นรูด” ไม่ใช่มีเพียง “มาตรการสกัดหุ้นร้อน” เท่านั้น ถือเป็นข้อเสนอที่เป็นเหตุเป็นผลอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ด้วยบทสรุปที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า บางสถานการณ์ทำให้หลักทรัพย์ (หุ้น) การปรับตัวลงแรงมากกว่าปกติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับ ปัจจัยพื้นฐานบริษัทเลย ทำให้นักลงทุนเกิดความเสียหายและเสียโอกาสในวงกว้างได้เช่นกัน

…แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า “เกณฑ์บรรเทาหุ้นรูด” จะเริ่มต้นกันอย่างไรกันดี..!??

Back to top button