พาราสาวะถี

ถ้าทุกครัวเรือนเลี้ยงไก่สัก 2 ตัว อย่าเพิ่งฆ่ามันก่อนให้มันโตให้มันไข่ก่อน มันจะใช้จ่ายน้อยลง แล้วคุณภาพชีวิตของลูกเราก็ดีขึ้น


ขยันโชว์วิสัยทัศน์ แสดงสติปัญญา แต่แทนที่จะช่วยเรียกศรัทธา ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน กลับเป็นทางตรงข้าม ล่าสุดการไปบอกชาวยะลาที่มาต้อนรับในการลงพื้นที่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา “วิธีลดรายจ่ายไม่ต้องไปซื้อพืช ซื้อผัก ซื้อไข่ ซื้ออะไรต่าง ๆ เอาง่าย ๆ ถ้าทุกครัวเรือนเลี้ยงไก่สัก 2 ตัว อย่าเพิ่งฆ่ามันก่อนให้มันโตให้มันไข่ก่อน เนี่ยค่อย ๆ ดูแลตัวเองอย่างนี้ มันจะใช้จ่ายน้อยลง แล้วคุณภาพชีวิตของลูกเราก็ดีขึ้น ถ้าเราซื้อทุกอย่างเลยมันไม่ได้หรอก ความพอเพียง ปลูกไว้กิน ปลูกไว้ใช้ ปลูกไว้แจกเพื่อน”

ไม่รู้ว่าต้องการจะสื่อถึงอะไร แต่ความเห็นประเภทนี้นักเรียนระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาก็บอกกันได้ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะออกมาจากปากของคนเป็นผู้นำประเทศ เหมือนกับการบอกให้ทหารปลูกผักชีช่วยประชาชนยามที่ผักดังกล่าวมีราคาแพง ถ้าคิดได้เท่านี้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ จึงไม่แปลกใจทำไมงานด้านเศรษฐกิจของบ้านเมืองจึงไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือสร้างความหวังให้กับคนได้ เมื่อมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลแบบนี้

ประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วิษณุ เครืองาม แจกแจงเหตุผลที่ต้องจัดเลือกตั้งกลางปีหน้าซึ่งทุกฝ่ายมองว่าช้าไปนั้น ไม่ได้ประวิงเวลาเพื่อให้พรรคสืบทอดอำนาจหาตัวคนลงสมัครให้ได้ หรือยืดเยื้อออกไปเพื่อให้ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน สร้างผลงานให้เข้าตากันก่อน แต่เพราะมีการเสนอให้มีสมาชิกสภาเขต หรือ สข. กลับมาเหมือนเดิม หลังจากถูกยกเลิกไปในยุคคสช. เมื่อต้องจัดเลือกตั้งทั้งสข. ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม.พร้อมกัน ก็ต้องใช้เวลาเป็นเรื่องธรรมดา

ฟังดูแล้วยังไงก็เป็นเหตุผลที่ไร้น้ำหนักอยู่ดี เพราะที่ผ่านมาทั้ง 3 ส่วนของกทม.ไม่เคยมีการเลือกตั้งพร้อมกันอยู่แล้ว และไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำงานแต่อย่างใด โดยเฉพาะสข.ที่สามารถจัดเลือกตั้งทีหลังเพื่อนก็ได้ หากเรียงลำดับความสำคัญ ผู้ว่าฯ กทม.จากการเลือกตั้งต้องมาก่อน และตามมาด้วยส.ก. หรือจะเลือกพร้อมกันก็ได้ เพราะทั้งสองส่วนถือมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะร่วมกันพิจารณางบประมาณที่กทม.บริหารเองหลายหมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองหลวง

วันเวลาที่ผ่านมาจากการมีผู้ว่าฯ ลากตั้ง เห็นได้ชัดเจนว่างานไม่มีอะไรใหม่ เพราะส.ก.ก็มาจากการลากตั้งเหมือนกัน จึงไม่ได้เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ หลายคนอาจจะมองว่าคนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ลำบากยากแค้นเหมือนต่างจังหวัด ไม่จำเป็นต้องมีใครไปรับฟังและนำมาสู่การแก้ไขก็ได้กระมัง ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ คนด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยในกทม.จำนวนไม่น้อยจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษผ่านโครงการต่าง ๆ ของกทม.

มิเช่นนั้น เราคงจะไม่ได้เห็นป้ายที่บรรดาส.ก.ของพรรคต่าง ๆ นำไปติดตามชุมชนหรือสถานที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อโชว์ผลงานในการประสานให้ได้งบประมาณมาพัฒนาหรือสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนในเมืองหลวง หากเป็นก่อนหน้านั้นที่ยังไม่มีกฎหมายตรวจเงินแผ่นดินมาควบคุม ก็จะมีการตีกินว่าโครงการต่าง ๆ เกิดจากการแปรงบประมาณของส.ก.คนนั้นคนนี้ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม องค์กรปกครองลักษณะพิเศษแห่งนี้มีความจำเป็นที่ต้องมีฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจากการเลือกตั้งโดยเร็ว

ขณะที่พรรคสืบทอดอำนาจจากเดิมที่หวังใจกันว่า “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร จะเซย์เยสมาเป็นผู้แทนของพรรคลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แต่พอเจ้าตัวประกาศจุดยืนชัดเจน ก็ทำให้เป๋กันไปทั้งพรรค ถึงขนาดที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในฐานะหัวหน้าพรรคถึงกับถอดใจประกาศ “พรรคไม่ได้ส่งใครในนามพรรค แต่เป็นการสนับสนุน ใครที่เป็นคนดี จะเป็นใครก็ได้ที่จะมาทำงานร่วมกับรัฐบาล ไม่ใช่ว่าเราจะส่ง…” ท่ามกลางการตกตะลึงของทีมกทม.ในพรรคกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม หลังจากกลับไปตั้งสติ หรือความจริงต้องบอกว่ามีเสียงสะท้อนมาจากบรรดาผู้สมัครส.ก. และทีมส.ส.ของพรรค ที่กังวลกันว่าหากไม่ส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็จะกระทบต่อการทำพื้นที่และรักษาฐานเสียงของตัวเองต่อการเมืองภาพใหญ่ ทำให้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ต้องทำเป็นตีหน้ามึนบอกกับสื่อรอบใหม่ว่า ที่ให้สัมภาษณ์ไปวันก่อนไม่ได้หมายความว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งแต่อย่างใด แต่ในฐานะหัวหน้าพรรคจะสนับสนุนคนดีเข้ามาทำงานกับรัฐบาล

ยังย้ำในประเด็นคนดีเหมือนเดิม ถ้ายึดเอาบรรทัดฐานจากขบวนการสืบทอดอำนาจ ก็ไม่ต้องไปหาใครที่ไหนให้เมื่อยตุ้ม ส่งอัศวินลงสมัครเสียให้รู้แล้วรู้รอด แล้วก็ไปวัดเอาว่าคนกรุงเทพฯ ยังพอใจ และไว้วางใจต่อการที่จะได้คนดีที่ผ่านการเลือกโดยผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและองคาพยพมาแล้วหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องไปฟังเสียงหรือความพึงพอใจจากคนภายในพรรค ส่วนเรื่องวิสัยทัศน์ นโยบาย ถ้ามั่นใจว่าใครลงก็ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเสนออะไรขายฝันให้วิลิศมาหรา

ทว่าความเป็นจริงปัญหาการหาตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคสืบทอดอำนาจ สอดสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องแก๊ง 3 ป.ด้วยต่างหาก เมื่อต่างฝ่ายเลือกถือหางคนที่ตัวเองคิดว่าดีพอที่จะกำชัยเหนือคู่แข่ง โดยที่พี่ใหญ่และคนในพรรคมองมิติทางการเมืองควบคู่ไปด้วย เพราะชัยชนะและทุกคะแนนที่ได้รับมันจะหมายถึงการวางแผนไปถึงการเลือกตั้งส.ส.ในครั้งหน้าเช่นกัน ขณะที่น้องเล็กและพี่รองมองแค่ว่าขอคนที่สามารถสั่งการและควบคุมให้อยู่ในโอวาทได้เท่านั้น

มันจึงยังหาจุดลงตัวไม่ได้ แต่เวลานี้เท่าที่มีข่าวภายในพรรคสืบทอดอำนาจเริ่มมีการทาบทามไปยังเทคโนแครตบางราย รวมไปถึงนักธุรกิจบางคนที่มีภาพไม่ชัดว่าอยู่พวกไหนหรือเอนเอียงไปทางฝั่งสลิ่ม แต่คนเหล่านั้นต่างขยาดกับการที่จะเอาอนาคตมาทิ้ง เพราะพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองภาพใหญ่ประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม มีการโน้มน้าวด้วยยุทธวิธีตามที่เคยได้บอกไป ทิ้งหมัดเด็ดกันช่วงโค้งสุดท้าย และเชื่อว่าคะแนนไหลมาเทมาอย่างแน่นอน

แต่คนที่เจรจาก็ใช่ว่าจะมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเมืองในกทม.พลิกผันกันได้ตลอดเวลา ยิ่งทิ้งเวลานานขนาดนี้ ไม่มีใครประเมินได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรระหว่างทางหรือไม่ ที่แน่ ๆ ปวดหัวกันทั้งพรรคคือประชาธิปัตย์ หลังคนที่ส่งลงสมัคร สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประกาศความเป็นทายาทของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทำให้คะแนนที่มองว่าดีขึ้นทันตาเห็นหายวับไปในพริบตา แต่ประสาพรรคที่มีชั้นเชิงในการแก้เกมไม่ธรรมดา มารอดูว่าจะมีมุกอะไรมาแก้ต่างให้ด็อกเตอร์เอ้หายหน้าชาหรือไม่

Back to top button