พาราสาวะถี

คนไทยส่วนใหญ่ลุ้นกันต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 5 กับสายพันธุ์โอมิครอนคือ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะก้าวไปถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่


ตอนนี้สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ลุ้นกันต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 5 กับสายพันธุ์โอมิครอนคือ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะก้าวไปถึงจุดสูงสุดหรือพีกเมื่อไหร่ และจะต้องกินเวลานานอีกเท่าใดจึงจะคลี่คลาย ฟังสิ่งที่ศบค.แถลง รวมไปถึงการชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุข ตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังบอกว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้าอยู่ ทั้งที่ความจริงหากพิจารณาจากความสามารถในการแพร่เชื้อของเดลต้ากับตัวเลขก่อนหน้า ตัวเลขที่ทะยานขึ้นอยู่เวลานี้จึงไม่น่าจะมาจากสายพันธุ์ดังกล่าว

กรณีที่เกิดขึ้น นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะอธิบายให้เห็นภาพและตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด โอมิครอนจำนวนผู้ที่ติดเชื้อต้องยอมรับกันว่าขณะนี้ได้ระบาดอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานโอมิครอนจะต่ำกว่าความเป็นจริงมากในทุกประเทศ เพราะการตรวจจะเป็นการตรวจเพียงว่าเป็นเชื้อโควิดเท่านั้น ไม่ได้แยกสายพันธุ์

การตรวจแยกสายพันธุ์จะต้องใช้วิธีการที่จำเพาะ เพื่อแยกว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ในต่างประเทศบางประเทศที่มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ตรวจยีนอื่นพบแต่ตรวจยีน S ไม่พบ ก็ถือว่าน่าจะเป็นโอมิครอน เพราะการกลายพันธุ์ในยีน S ทำให้ตรวจไม่พบ ในประเทศไทยการตรวจหาไวรัสโควิดเกือบทั้งหมดไม่ได้มีการตรวจยีน S ร่วมด้วย จึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ การตรวจหาสายพันธุ์จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจำเพาะในการตรวจ หรือถอดรหัสพันธุกรรม

ดังนั้น ขณะนี้การที่บอกว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในไทยกว่า 3,000 ราย ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์โอมิครอน เพราะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าที่ไม่ได้ตรวจ เช่นเดียวกันในเกือบทุกประเทศจะเป็นแบบนั้น การจะบอกได้ว่าขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนมากน้อยแค่ไหน จะต้องใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาตรวจ แล้วดูอัตราเปอร์เซ็นต์ในการพบโอมิครอนกับสายพันธุ์เดลต้ามากกว่า

บทสรุปของหมอยงขณะนี้เชื่อว่าโอมิครอนได้เข้ามาแทนที่เดลต้าเป็นจำนวนมากแล้ว น่าจะเกิน 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เรื่องของตัวเลขไม่ใช่สาระสำคัญแต่ประการใด อยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาล นั่นก็คือศบค.และกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการอย่างไรต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การประกาศล่าสุดว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะมีคำถามย้อนกลับไป รู้เช่นนั้นแล้วยังปล่อยให้มีการเดินทางของคนจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาได้อย่างไร

หรือไม่ตระหนกเพราะเห็นว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้อันตรายเท่ากับเดลต้า ประกอบกับการที่มีคนจำนวนมากได้ฉีดวัคซีนไปแล้วจึงทำให้เบาใจได้ หรืออีกด้าน เหตุที่ไม่มีมาตรการเด็ดขาดเหมือนการระบาดสี่ระลอกที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาดูแลหากจะต้องมีการล็อกดาวน์หรือสั่งปิดโน่นปิดนี่อีก จะเห็นได้ว่าผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันศุกร์ที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับพื้นที่สีเป็นพื้นที่ควบคุมหรือสีส้มเป็น 69 จังหวัด โดยมีพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวสีฟ้า 8 จังหวัด แต่ไม่มีพื้นที่สีแดงหรือสีแดงเข้ม

ทั้งที่ความจริงหลายจังหวัดจะเห็นได้ว่าควรถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่เป็นเพราะรัฐบาลเกรงว่าหากทำเช่นนั้นจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอันจะสร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะได้ จึงไม่มีมาตรการเข้มข้นออกมา และปล่อยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้น ๆ ใช้อำนาจประกาศมาตรการในแต่ละพื้นที่ตามสถานการณ์

โดยที่อุบลราชธานีที่พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและส่อว่าจะรุนแรง พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดอุบลราชธานี ได้เซ็นหนังสือประกาศจังหวัดอุบลราชธานีขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี งดหรือหลีกเลี่ยงการออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม เป็นต้นไป แม้จะไม่ใช่การบังคับ แต่มาตรการที่ออกมาก็คือการเคอร์ฟิวกลาย ๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็น่ารับฟังและคงจะเป็นไปในทิศทางของคนไทยส่วนใหญ่เหมือนกัน นั่นก็คือ รัฐบาลต้องใช้สมมติฐานว่าระบบสาธารณสุขจะเผชิญวิกฤตถาโถมเข้ามาในระดับเดียวกับช่วงการระบาดช่วงกลางปีที่ผ่านมา และต้องเตรียมระบบสาธารณสุขให้พร้อมเพื่อไม่ให้ต้องมีคนไทยตายข้างถนนหรือตายคาบ้านอีก รัฐบาลมีบทเรียนจากการระบาดที่ผ่านมาระลอกที่แล้วในหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเตียงไม่พอ รถพยาบาลไม่พอ คอลเซ็นเตอร์ไม่มีความพร้อม ไปจนถึงการเบิกจ่ายงบประมาณซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เวลาหลายเดือน จนโรงพยาบาลรัฐต้องขอรับบริจาค ปัญหาในการบริหารการส่งคนไข้ข้ามสังกัดหน่วยงานรัฐ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมการให้พร้อม เนื่องจากการระบาดรอบนี้มีการมองว่าคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่เจ็บป่วยรุนแรงจึงจะใช้วิธีการรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation และการรักษาที่ศูนย์พักคอยชุมชน หรือ Community Isolation

ปัญหาที่ผ่านมาคือการสั่งให้ท้องถิ่นตั้ง Community Isolation ขึ้นมาโดยที่ไม่มีงบประมาณรองรับ แต่เวลานี้ท้องถิ่นทั่วประเทศเกือบทั้งหมดผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว แม้จะมีบางพื้นที่ที่กกต.ยังไม่ให้การรับรองก็ตาม เมื่อมีผู้บริหารท้องถิ่นมาบริหารจัดการแล้วก็น่าจะทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้หมดไป ขณะเดียวกันเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ในบุคลาการทางการแพทย์นั้นชัดเจนไปแล้ว ส่วนประชาชนทั่วไปที่เน้นในกลุ่ม 608 คือคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์เป็นหลัก ต้องตอบกันให้ชัดว่าเพียงพอต่อการรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นนี้หรือไม่

Back to top button