ICHI คัดกรองลูกค้า

ปกติหุ้น ICHI ก็มีสีสันไม่แพ้ผู้ถือหุ้นใหญ่ “เสี่ยตัน ภาสกรนที” เจ้าพ่อหวยชาเขียวในตำนาน แต่ดูเหมือนในรอบปีที่ผ่านมาข่าวคราวค่อนข้างเงียบหาย


ปกติหุ้นบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ก็มีสีสันไม่แพ้ผู้ถือหุ้นใหญ่ “เสี่ยตัน ภาสกรนที” เจ้าพ่อหวยชาเขียวในตำนานหรอกนะ..!! แต่ดูเหมือนในรอบปีที่ผ่านมาข่าวคราวค่อนข้างเงียบหาย แม้จะออกโปรดักส์ใหม่ “อิชิตัน กรีนแลป” น้ำชาเขียวผสมเทอร์ปีน ก็ไม่ปังอย่างที่คิด…

แต่ล่าสุดไม่เงียบแล้วนะ เปิดศักราชปี 2565 มา ก็มีข่าวสารจะเข้าไปลงทุนในบริษัท พรีดิกทิฟ จํากัด (PDT) ซึ่งทำธุรกิจให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล ให้คำปรึกษา วางแผน และให้บริการอื่นใด เพื่อใช้ทำการตลาดให้แก่ธุรกิจของลูกค้า รวมทั้งบริการจัดเก็บ และโอนย้ายข้อมูลตามความประสงค์ของลูกค้าแต่ละราย โดยถือหุ้นสัดส่วน 25%  มูลค่าลงทุนราว 122 ล้านบาท

หลังจากนั้น ICHI จะร่วมกับพรีดิกทิฟ ตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาใหม่ เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล ให้คำปรึกษา วางแผน และให้บริการอื่นใด โดยแต่ละฝ่ายจะถือหุ้นเท่า ๆ กัน ฝ่ายละ 50%

ก็ถือเป็นการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจนอน-ดริ๊งค์ของ ICHI..!!

แต่ก็น่าคิด ทำไมต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล ให้คำปรึกษา วางแผนตลาดด้วยละ..?

ถ้าให้วิเคราะห์ จะเห็นว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาของ ICHI ในแง่ของการทำมาร์เก็ตติ้ง หรือโฆษณาสินค้า มักผูกติดอยู่กับ “เสี่ยตัน” จนกลายเป็นภาพจำที่ว่า เสี่ยตันคือ ICHI…ICHI คือเสี่ยตัน ไปซะแล้ว..!!

เรียกว่า ถ้า “เสี่ยตัน” ไม่ลงเอง ก็มักไม่ปังอ่ะนะ..!!

ประกอบกับตลาดชาเขียวไม่บูมเหมือนในอดีต…ซึ่งไม่บูมไม่พอ ยังเป็นตลาดเรดโอเชียน แข่งขันดุเดือดเลือดพล่านอีกด้วย มีทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ ที่อยู่สนามนี้

โอเค…แม้ ICHI จะมีโรงงานผลิตสินค้าเองได้ แต่ไม่มีแชลเน็ลหรือช่องทางจัดจำหน่าย ทำให้มาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ ดังนั้น หากการตลาด ICHI ไม่ปัง ก็ทำให้ ICHI เหนื่อยมากขึ้น…(คงต้องงัดแคมเปญแจกเบนซ์มาใช้บ่อย ๆ แล้วล่ะ…)

สิ่งที่ทำได้ก็ต้องย้อนกลับมากลั่นกรองลูกค้าเป็นยังไง..? และต้องการอะไร..?

ในขณะที่การออกโปรดักส์ของ ICHI ส่วนใหญ่จะออกตามกระแส อย่างน้ำชาเขียวผสมกัญชง แม้ออกมาเป็นเจ้าแรก แต่ก็ไม่ปัง (งานนี้ไม่รู้ว่า ออกก่อน…เจ๊งก่อน หรือเปล่าน้อ…) ทำให้ต้องมีหน่วยคัดกรองความต้องการของลูกค้า หรือผู้บริโภคมาเติมเต็ม

ที่จริง ICHI ก็คงมีทีมงานด้านนี้แหละ แต่อาจไม่ได้อยู่ในรูปของบริษัทที่ชัดเจน…ดังนั้น การไปลงทุนในพรีดิกทิฟก็น่าจะมาช่วยปิดจุดอ่อน…เสริมจุดแข็งของ ICHI ได้ อย่างน้อยการที่ ICHI จะออกน้ำอะไรมาสักอย่าง ก็มีฐานข้อมูลลูกค้าเป็นที่ตั้ง ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดขึ้น…โอกาสปังก็มีมากขึ้นด้วย

โอเค…ในแง่ของการเข้ามาปิดจุดอ่อน…เสริมจุดแข็งให้กับ ICHI ก็ว่ากันไป แต่อีกขาที่ ICHI จะได้ คือ การรับรู้รายได้และกำไรจากพรีดิกทิฟตามสัดส่วนการถือหุ้น

ซึ่งถ้าไปดูผลประกอบการของพรีดิกทิฟในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เลวทีเดียว ปี 2562 มีรายได้ 67 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 21.38% ส่วนปี 2563 มีรายได้ 106 ล้านบาท กำไรสุทธิ 24 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 22.77%

จะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นค่อนข้างสูง แถมโอกาสเติบโตก็มีอีกมาก นั่นเป็นเพราะในยุคที่ผู้บริโภคมีความซับซ้อน จะทำให้บริษัทต่าง ๆ หันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะการมีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือ ทำให้สามารถต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

นั่นเท่ากับว่า ถ้าพรีดิกทิฟเติบโตดี…ICHI ก็พลอยได้รับผลดีไปด้วย…

งานนี้ก็ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องแหละน่า…

แหม๊…จะทิ้งลาย “เสี่ยตัน” ได้ไง…ว่าป๊ะล่ะ

…อิ อิ อิ…

Back to top button