พาราสาวะถี

ปัญหาสำคัญคงเป็นที่วิสัยทัศน์และการเปิดรับฟังความเห็นของคนเป็นผู้นำมากกว่า เพราะปัญหาที่เผชิญอยู่เวลานี้ ภาคการเมือง, รัฐและเอกชน ต้องเปิดใจ


การแสดงความโมโหโกรธาของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในวันที่ไปเป็นประธานเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ศูนย์นิทรรศการและแสดงสินค้าไบเทค เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยการอ้างว่าหนี้สินปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเหล่านี้มักจะมีปัญหาทุกครั้งกับการทำงานในแนวใหม่ ตนไม่ทราบว่าสาเหตุคืออะไร ต้องการกลับไปอยู่ในวังวนเดิม ๆ หรือเปล่า เพราะง่ายต่อการสร้างความชื่นชอบส่วนตัวทางการเมืองหรือเปล่า อย่าทำร้ายประชาชนอีกต่อไป

เหมือนจะเป็นการทวงบุญคุณที่ตัวเองสามารถไกล่เกลี่ยหนี้สินให้กับประชาชนได้ โดยที่รัฐบาลอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำได้หรืออย่างไร ทั้งที่กระบวนการเหล่านี้ก็ทำกันเป็นปกติอยู่แล้วสำหรับเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในยามที่ลูกหนี้มีปัญหาการชำระเพื่อที่จะเกิดการประนอมหนี้ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย ไม่ใช่ว่ามีรัฐบาลสืบทอดอำนาจหรือรัฐบาลเผด็จการคสช.ก่อนหน้าแล้วสามารถเป่าหนี้ประชาชนให้หายไปได้

ทั้งที่ความจริงสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากประชาชนอยู่ดีกินดี โดยฝีมือการบริหารที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศลั่นบนเวทีว่า “เครียดเหมือนผมหรือไม่ ไม่ต้องมาเครียดกับผม เพราะผมเครียดทุกเช้า สิ่งที่ผมพูดคือต้องพูดเสียบ้าง ถึงแม้ว่าใครจะให้เกียรติหรือไม่ให้เกียรติ” ก่อนคนในที่ประชุมจะถึงบางอ้อว่าเหตุที่ทำให้ท่านผู้นำปรี๊ดแตก เพราะไม่ชอบคำพูดว่า “โว” อะไรที่ดีก็ชี้แจงออกมาแต่ก็หาว่าโว แล้วโวคืออะไรคือขี้โม้ขี้คุยหรือไง

สุดท้ายก็มาลงที่สื่อ ด้วยข้อกล่าวหา “เขาพูดเขาชี้แจงก็ฟังเสียงบ้าง ไม่เคยมีประเทศไหนที่สื่อไม่ให้เกียรติผู้นำอย่างประเทศนี้” คงต้องย้อนถามกลับไปหากผู้นำประเทศมีผลงาน รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้อย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น ประชาชนในประเทศก็ไม่ลำบาก ยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ถามว่าจะมีเสียงก่นด่า หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเปลี่ยนแปลงหวังจะเกิดความเชื่อมั่นหรือไม่

สิ่งที่เป็นความย้อนแย้งของรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจก็คือ พยายามจะโชว์ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการชูผลงานบัตรคนจนว่าสามารถดูแลความทุกข์ยากของประชาชนได้เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ในทางตรงข้ามการที่มีผู้ได้รับบัตรคนจนเพิ่มมากขึ้น มันย่อมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอาแต่คุยโว ทว่าไม่มีปัญญาที่จะยกระดับคุณภาพของประชาชนให้ดีขึ้น

ตัวเลขของคนยากไร้ผ่านบัตรคนจนเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาตรการในการบริหารเศรษฐกิจทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้น โดยที่จำนวน 20 ล้านคนที่รัฐบาลประกาศผ่านการให้สิทธิได้รับบัตรคนจนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าจากที่มีผู้ถือบัตรคนจนเกือบ 14 ล้านรายจากปีก่อนหน้า เพียงแค่ปีเดียวมีคนจนเพิ่มขึ้นเกือบ 7 ล้านคน เช่นนี้แล้วจะทำให้คนมองว่ารัฐบาลมีผลงาน แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้เป็นอย่างดีได้อย่างไร

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างว่าได้ทำแนวใหม่แล้วมักจะมีปัญหานั้น ความจริงก็คือ รัฐบาลแสดงท่าทีว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือนที่มีจำนวนรวมกันถึง 14.5 ล้านล้านบาท เป็นเพียงการยกหัวข้อปัญหาว่าหนี้สินมีกี่รายการ แต่ไม่มีวิธีในการแก้ปัญหาเลย โดยที่ ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในรัฐบาลเผด็จการคสช. มองว่า การแก้หนี้สินนั้นต้องทำให้ประชาชนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่มีมาตรการดังว่า

ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนได้ เพราะเป็นแค่มาตรการล่อให้ประชาชนนำเงินที่มีอยู่ไปใช้จ่ายให้หมด จึงมีแต่ยิ่งยากจนลง ตราบใดที่ไม่มีมาตรการเพิ่มรายได้ ตราบนั้นไม่มีทางแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนได้ ประเด็นนี้อดีตที่ปรึกษาพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็น่าจะเข้าใจดี จะเอาปัญญาที่ไหนไปเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ขนาดรัฐบาลยังหมดหนทางที่จะหารายได้มาบริหารประเทศ เอาเฉพาะแค่แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ก็ปวดขมับกันอย่างหนักแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น อุตตม สาวนายน อดีตขุนคลังมือเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลเผด็จการคสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจในขวบปีแรก หลังจากที่ผันตัวเองมาเป็นแกนนำและผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทยแล้ว ก็มีชุดความคิดที่มองเห็นปัญหาจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ตัวเองเคยร่วมงานมา จากสภาพปัญหาในปัจจุบันที่พบว่าการแก้ไขซึ่งเน้นไปที่มาตรการภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภค ที่ในความเป็นจริงจะพบว่าเป็นประโยชน์ในระดับหนึ่ง

ประชาชนยังอยากเห็นมาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการที่จะสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ใหม่ รวมถึงการลดค่าครองชีพ และมาตรการควบคุมราคาสินค้า ที่เวลานี้เห็นได้ชัดว่าประชาชนแบกรับภาระกันอย่างหนัก ขณะที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็เอาแต่อ้างว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยเราที่ต้องประสบปัญหาแบบนี้ เป็นไปเหมือนกันทั้งโลก คิดง่ายอ้างง่ายกันแบบนี้ ถ้าเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้นำประเทศและรัฐบาลก็ได้

กรณีนี้อุตตมมองว่ามาตรการที่จะสร้างงานใหม่ สร้างรายได้นั้น ต้องเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน มิใช่มาตรการเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง และต้องครอบคลุมยึดโยงภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ เช่น มาตรการสำหรับภาคบริการ การเกษตร การผลิต หรือแม้กระทั่งภาคอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ จึงจะเป็นชุดมาตรการที่มีพลังเพียงพอ ในการช่วยฉุดให้ระบบเศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะชะงักงันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้

ปัญหาสำคัญคงเป็นที่วิสัยทัศน์และการเปิดรับฟังความเห็นของคนเป็นผู้นำมากกว่า เพราะปัญหาที่เผชิญอยู่เวลานี้ ภาคการเมือง ภาครัฐและเอกชน ต้องเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน และช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในวงกว้าง ทั้งจากภาคประชาชน ผู้ประกอบการ นักลงทุน และจะเป็นพลังหลักในการที่จะสามารถแก้ปัญหา และช่วยกันนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ แต่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกลับมีความคิดต้องฟังและทำตามที่ตัวเองและคณะสั่งเท่านั้น เช่นนี้อนาคตคงมองเห็นกันว่าจะเป็นแบบไหน

Back to top button