CPF ท่ามกลางภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

CPF ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนอีกแห่งหนึ่งที่ต้องติดตามว่า จะได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือไม่


เส้นทางนักลงทุน

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งที่ต้องติดตามว่า จะได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือไม่  เนื่องจาก CPF ถือเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่มีการลงทุนไปทั่วโลก รวมทั้งรัสเซีย

หากจำแนกการทำธุรกิจหลักตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ของ CPF แล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์
  2. ธุรกิจเลี้ยงสัตว์-แปรรูป (Farm-Processing) ได้แก่ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า และการแปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน
  3. ธุรกิจอาหาร (Food) ได้แก่ การผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปกึ่งปรุงสุกและปรุงสุก และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารพร้อมรับประทาน รวมถึงกิจการค้าปลีกอาหารและร้านอาหาร

โดยฐานข้อมูลเว็บไซต์ของกิจการ ระบุว่า CPF ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรครอบคลุม 17 ประเทศ และส่งออกสินค้าไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 CPF มีสัดส่วนกิจการในประเทศไทย 31% ของรายได้จากการขาย แบ่งเป็นในประเทศ 26% และ ส่งออก 5%

ส่วนอีก 69 % เป็นกิจการในต่างประเทศ ประกอบด้วย จีน 27 %, เวียดนาม 18%, และอื่น ๆ 24% ซึ่งได้แก่ อังกฤษ, ไต้หวัน, สหรัฐฯ, รัสเซีย, กัมพูชา, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, ตุรกี, มาเลเซีย, ลาว, จีน (สัตว์น้ำ), ศรีลังกา, เบลเยียมและโปแลนด์

แม้ CPF จะมีธุรกิจในรัสเซีย แต่คาดว่าผลกระทบจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะจำกัด โดยยอดขายในรัสเซียคิดเป็น 3% ของยอดขายรวมของบริษัท ซึ่ง 98% เป็นการทำธุรกิจหมูและไก่ในรัสเซีย รวมทั้งการกู้เงินในรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิลทั้งหมด ซึ่ง CPF อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลง

โดยภาพรวม CPF ได้รับผลบวกจากการส่งออกไปยังยุโรปที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ภายหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จากการสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากยูเครนเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์สูงเป็นอันดับ 2 ในยุโรป จึงจะส่งผลดีต่อแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ ให้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ ) ซึ่งเป็นไปตามราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น ภายหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมถึงซัพพลายหมูที่หายไปจากโรค ASF ส่งเสริมให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวดีขึ้น ทั้งราคาหมูและไก่ ในฐานะสินค้าทดแทน

สอดรับกับราคาหมูในเวียดนามที่เริ่มฟื้นตัว ตามการบริโภคที่ดีขึ้น และคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศวันที่ 15 มี.ค. 2565 ขณะที่ราคาหมูจีนอ่อนตัวลงอีกครั้งหลังเทศกาลตรุษจีน แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ในปี 2564 ที่ผ่านมา CPF มีกำไร 1.3 หมื่นล้านบาท ลดลงจากในปี 2563 ที่มีกำไร  2.6 หมื่นล้านบาท มียอดขายรวมอยู่ที่ 512,704 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอดขายดังกล่าวลดลง 13% จากปีก่อน อันเป็นผลจากการเปลี่ยนสถานะจากบริษัทย่อย เป็นบริษัทร่วมของ Chia Tai Investment Co., Ltd. เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 หากไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว รายได้จากการขายในปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด และมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโรค โดยเฉพาะในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของภาคธุรกิจสูงขึ้น

จากผลสำรวจความคิดเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ หรือ IAA Consensus จำนวน 13 ราย พบว่า 11 ราย มีคำแนะนำ ”ซื้อ” ส่วนอีก 3 ราย แนะนำให้ “ถือ” หุ้น CPF โดยให้ราคาเป้าหมายสูงสุดในปีนี้ที่ 32.75 บาทต่อหุ้น  มีค่า P/E 12.7 เท่า และ P/BV ที่  0.8  เท่า  ขณะที่ให้ราคาเป้าหมายต่ำสุดที่ 26 บาทต่อหุ้น มีค่า P/E 10.60 เท่า และ P/BV ที่ 0.7 เท่า  หรือ คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 30.03 บาทต่อหุ้น

มุมมองที่มีต่อ CPF ในปี 2565 นี้ ประเมินว่า ธุรกิจยังมีปัจจัยบวก ขับเคลื่อนจากราคาหมูและไก่ทั้งในไทยและเวียดนาม จะทรงตัวในระดับสูง จากซัพพลายหมูที่หายไป และการใช้ไก่เป็นสินค้าทดแทนดังกล่าว ผนวกเข้ากับกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น หลังแรงงานกลับมาแล้ว 90% และคาดว่าภายในเดือน มี.ค. นี้ จะกลับมาครบทั้ง 100%

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงยังเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ CPF เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งกากถั่วเหลืองที่เพิ่มเป็น 21.6 บาทต่อกิโลกรัม  หรือเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY) และ ต้นทุนข้าวโพด เพิ่มเป็น 11.1 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน  จึงถือว่าต้นทุนอาหารสัตว์ยังเป็นความเสี่ยงหลักของธุรกิจ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งที่จะยังอยูในระดับสูงจนถึงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย ประกอบกับราคาสุกรจีนทำระดับต่ำสุดใหม่จากภาวะอุปทานส่วนเกิน

แม้ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบต่อ CPF จำกัด แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน แนวโน้มค่าเงินรูเบิลจะอ่อนค่าลงมากกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือ ปัจจัยเสี่ยงต่อ CPF นั่นเอง

Back to top button