เลิกอิงราคาสิงคโปร์

ราคาน้ำมันยังลดลงได้อีกครับ ผมขอยืนยัน แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคาราคาซัง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานไปเหนือระดับ 120 เหรียญฯ แล้ว


ราคาน้ำมันยังลดลงได้อีกครับ ผมขอยืนยัน แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคาราคาซัง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานไปเหนือระดับ 120 เหรียญฯ แล้ว

ครับ ในวิกฤตหนึ่ง ๆ การหาทางเยียวยาผลกระทบเฉพาะหน้า ก็ทำกันไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในวิกฤตนั้น ที่ต้องได้รับการแก้ไขจัดวางกันเสียใหม่

ผมกำลังจะพูดถึงโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยอันบิดเบือนและเอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคมานานแสนนาน

ราคาหน้าโรงกลั่น อาจจะเปรียบเสมือนราคาต้นทุนน้ำมัน ที่มีการบวก-บวกภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เริ่มจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันซึ่งเป็นรายการใหญ่ที่สุด ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีแวตทั้งขายส่งและปลีก และค่าการตลาด

แน่นอน! ราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่น ไม่ใช่ราคาเดียวกับราคาปลายทางที่สถานีบริการน้ำมันแน่ แต่ราคาจะห่างจะแคบแค่ไหน ย่อมขึ้นกับ “นโยบายรัฐ” จะหาประโยชน์จากผู้บริโภคน้ำมันมากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่าง โครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 24 มี.ค. 65 สด ๆ ร้อน ๆ ที่ผ่านมา ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเบนซินซุปเปอร์ 47.36 บาท/ลิตร แต่เป็นราคาหน้าโรงกลั่นเพียง 28.4351 บาท/ลิตร หรือคิดเป็น 60% ของราคาจำหน่ายปลีกเท่านั้น

ที่เหลือ 40% ก็เป็นไปตามเบี้ยใบ้รายทาง โดยมีภาษีสรรพสามิตเป็นไดรโว่ตัวใหญ่สุด จัดเก็บสูงถึง 6.50 บาท/ลิตร

ราคาจำหน่ายปลีกแก๊สโซฮอล์E10 ราคา 39.95 บาท ที่บริโภคกันมากที่สุดในกลุ่มเบนซิน ก็เป็นราคาหน้าโรงกลั่นเพียงแค่ 27.6845 บาท ห่างกันถึง 12.26 บาท หรือคิดเป็น 69.29%

ที่เหลือ 30% เศษ ก็เป็นไปตามเบี้ยใบ้รายทาง โดยมีภาษีสรรพสามิตยังจัดเก็บหนักที่สุดที่ 5.85 บาท

ส่วนราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซล ที่รัฐยอมลดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลงมาเหลือ 2.80 บาท แต่ต้องโยกเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนถึง 8.74 บาท ถึงจะตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทได้ ก็เป็นราคาหน้าโรงกลั่นสูงกว่าถึง 32.1421 บาท

ก็เพราะยังคงจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ดีถึง 3.20 บาท และภาษีเทศบาล เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และค่าการตลาดยังจัดเก็บคงเดิม

สรุป ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันที่ประชาชนบริโภคอยู่ทุกวันนี้ เป็นราคาต้นทุนที่หน้าโรงกลั่น เพียงแค่ร้อยละ 60-70 เท่านั้น ส่วนต่างที่เหลือ 40-30% เป็นการจัดเก็บตามนโยบายรัฐ

ส่วนต่างที่ห่างกันตั้ง 30-40% มันน่าจะลดราวาศอกกันได้นี่นา ยอมเฉือนรายได้รัฐลงหน่อย เพื่อการนี้ ก็ยังดีกว่าเอาเงินไปละเลงกับนโยบายสงเคราะห์แบบอีลุ่ยฉุยแฉกแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงที่ถูกอำพรางกันมาช้านานในเรื่องของราคาหน้าโรงกลั่นนั้น แท้จริงเป็น “ราคาทิพย์” ที่ไม่ใช่ราคาหน้าโรงกลั่นไทยจริง

แต่เป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งต้องมีการบวกค่าขนส่งมายังไทย ค่าประกันภัย และค่าการสูญหายเข้าไปด้วย ผมถึงว่า มันเป็น “ราคาทิพย์” ไง

ซึ่งถ้าตัดราคาค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าการสูญหายไป ราคาหน้าโรงกลั่นไทยก็น่าจะต่ำกว่าราคาอ้างอิงสิงคโปร์ปัจจุบันในระดับ 10-20% แน่

นี่จะเป็นการปรับเชิงโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยครั้งใหญ่ ผมขอสนับสนุนแนวทางของพรรคสร้างอนาคตไทยที่มีอุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน เสนอเป็นแนวนโยบายพรรคไว้นะ

ข้ออ้างเรื่องการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนทั้งเข้าและออก หากราคาไทยแพงกว่าสิงคโปร์ และหากราคาสิงคโปร์แพงกว่าไทย ผมว่ามันเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่ต้องแยกแยะ อย่าไปปนเปกัน

เรื่องการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน ก็เป็นเรื่องของการปราบปราม เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ศุลกากรรับผิดชอบปราบปราม โดยมีทั้งตำรวจและกองทัพเรือเป็นผู้สนับสนุน ไม่ควรจะเอามาปะปนกับหลักการที่เราจะ “ปลดแอก” ประชาชนไทยผู้บริโภคน้ำมัน โดยยกเลิก “ราคาอ้างอิงสิงคโปร์” เลยสักหน่อย

ในวิกฤต หากตั้งสติดี ๆ จะเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และต้องลงมือแก้ไขด้วยสุจริตทันที โดยไม่ชักช้า

Back to top button