จีนกับรถไฟ Maglev 3.0

ต้นเดือนที่ผ่านมาจีนประสบความสำเร็จกับ “รถไฟระบบพื้นผิวแม่เหล็ก (Magnetic Levitating : Maglev) รุ่นที่ 3” จากสนามทดสอบของมหาวิทยาลัยถงจี้


ต้นเดือนที่ผ่านมาจีนประสบความสำเร็จกับ “รถไฟระบบพื้นผิวแม่เหล็ก (Magnetic Levitating : Maglev) รุ่นที่ 3” จากสนามทดสอบของมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) เป็นความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟ Maglev ความเร็วปานกลางของจีนที่อยู่ระดับแนวหน้าของโลก

รถไฟ Maglev 3.0 เป็นผลงานที่พัฒนาของ CRRC Zhuzhou Locomotive ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงรายใหญ่ในประเทศจีน ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Tongji CRRC Zhuzhou ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีแม่เหล็ก Maglev (ตั้งอยู่ที่เมืองจูโจว มณฑลหูหนาน) โดยได้รับการออกแบบให้มีความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหมาะสำหรับนำไปใช้กับเส้นทางภายในเมืองและระหว่างเมืองที่วิ่งด้วยความเร็ว 50-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ได้รับการปรับปรุงเทคโนโลยีหลายด้านให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟ Maglev รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เช่น ระบบจ่ายไฟแบบไม่ต้องสัมผัส การควบคุมรางและประสิทธิภาพการยึดเกาะ รวมถึงสมรรถภาพการลากจูง ที่สามารถเร่งความเร็วและไต่ทางลาดได้ดียิ่งขึ้น

กระบวนการพัฒนาเกิดขึ้นและได้รับการจดสิทธิบัตรในประเทศจีน เทคโนโลยีที่ถูกติดตั้งเข้ากับขบวนรถ เช่น ระบบสื่อสารความเร็วสูง 5G การตรวจสอบสถานะของรถไฟแบบเรียลไทม์ ระบบการตรวจสอบข้อผิดพลาดของระบบ และแจ้งเตือน รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ

Zhou Qinghe ประธาน CRRC Zhuzhou Locomotive ระบุว่า“รถยนต์พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า มีช่องว่างทางการแข่งขันในตลาดเทคโนโลยีรถไฟของโลก ความสำเร็จในการทดสอบแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรถไฟพลังงานไฟฟ้าของประเทศจีน นวัตกรรมและเทคโนโลยี Maglev ของจีนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก”

สำหรับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปิดใช้งานอยู่คือ Shanghai Maglev Line เชื่อมต่อสนามบินนานาชาติไฮ้ผู่ตง ระยะทาง 30 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วสูงสุด 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาทั้งหมด 7 นาที 20 วินาที

ช่วงกลางปี 2021 จีนมีการเปิดตัวรถไฟพลังงานแม่เหล็ก ที่หากถูกพัฒนาสมบูรณ์แบบสามารถทำความเร็วได้ 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ปัจจุบันจีนมีการเร่งก่อสร้างวงแหวนกลุ่มเมืองเศรษฐกิจและเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างกัน ทำให้รถไฟ Maglev ได้รับความสนใจและมีแนวโน้มการตลาดกว้างมากขึ้น โดยรถไฟระบบนี้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับการขนส่งภายในเมืองและระหว่างเมืองที่มีความเป็นอัจฉริยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ถือเป็นการก้าวข้ามผ่านเทคโนโลยี “รถไฟระบบพื้นผิวแม่เหล็ก” ของจีนท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 โดยมีแผนเตรียมใช้รถไฟ Maglev 3.0 เพื่องานขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ต่อไปในอีกไม่นานนี้..!!

Back to top button