‘ตู้เต่าบิน’ อุ้ม กลุ่ม FORTH เหินฟ้า

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ “ตู้เต่าบิน” ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง


เส้นทางนักลงทุน

“คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง…ให้เต่าบินเป็นทุกวันของคุณ” นับเป็นสโลแกนที่ผู้คนเริ่มรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น หลังจาก บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH”  ได้พลิกโฉมประสบการณ์การดื่มเครื่องดื่มแก้วโปรดในแบบ “ตู้เต่าบิน” (TAO BIN)  ผ่านการชงด้วยระบบหุ่นยนต์สุดอัจฉริยะครั้งแรกในไทย โดยมีการพัฒนาเวอร์ชั่นของตู้ให้ฉลาด และทันสมัยขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ “เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” หรือ “Vending Machine ที่มีมานาน

“ตู้เต่าบิน” เปิดตัวครั้งแรกในงานไทยแลนด์ แฟรนไชส์ แอนด์ บิสซิเนส ออพพอร์ทูนิตี้ ที่ไบเทค บางนา เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ก่อนจะติดตั้งตู้แห่งแรกที่สาขาธนาคารกสิกรไทย สาขาพหลโยธิน เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 จากนั้นก็เริ่มขยายสาขาไปยังคอนโดมิเนียม โรงพยาบาลศิริราช อาคารสำนักงาน และโรงงานต่าง ๆ

ทั้งนี้จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ “ตู้เต่าบิน” ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปหันมาทำงานที่บ้านและร้านกาแฟเป็นหลัก รวมทั้งมองหาความสะดวกสบายมากขึ้น “ตู้เต่าบิน” จึงตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิดได้อย่างดี

การแจ้งเกิดของ “ตู้เต่าบิน” ได้ชุบชีวิตหุ้นแม่ คือ FORTH ให้กลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 25 เม.ย. 2565 หุ้น FORTH ราคาวิ่งไปแล้ว 140.57% จาก  21.20 บาท ไต่สู่ระดับสูงสุด 51 บาท ปัจจุบันยืนแถว 42 บาท ขณะที่ในปี 2564 ราคาหุ้น FORTH วิ่ง 247.54% จาก 6.10 บาท (สิ้นปี 2563) มาที่ 21.20 บาท  (สิ้นปี 2564)

“ตู้เต่าบิน” ไม่ได้อุ้มแค่ราคาหุ้นแม่เหินฟ้า แต่ฉุดให้หุ้นเครือญาติ เช่น บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ FSMART” วิ่งไป 123% จาก 12 บาท (สิ้นปี 2564) มาที่ 26.75 บาท (25 เม.ย.) ปัจจุบันยืนแถว 21.60 บาท ซึ่งขณะนี้หุ้น FSMART ถูกตลาดหลักทรัพย์ (SET) จับขังด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ระดับ 1 (T1) คือสมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ และ ห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ (ในทุกประเภทบัญชี)ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. ถึง 13 พ.ค. 2565 เพราะราคาซื้อขายหุ้นผิดปกติ และตอนนี้จึงเทรดกันที่ราว 20-22 บาท

ปรากฏการณ์ “ตู้เต่าบิน” สะท้อนถึงการปรับตัวและมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างการเติบโตได้ระยะยาว โดยเฉพาะตลาดเครื่องดื่มกาแฟที่มีมูลค่ากว่า 4.25 หมื่นล้านบาท มีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี ซึ่งยังมีโอกาสและช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก

“ตู้เต่าบิน” ถือเป็นการต่อยอดจากธุรกิจตู้บุญเติมที่ดำเนินการโดย FSMART อีกหนึ่งบริษัทในเครือของ FORTH ที่อาจจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

ปัจจุบัน “ตู้เต่าบิน” มีจุดติดตั้งให้บริการแล้วจำนวน 1.2-1.3 พันตู้ สามารถสร้างยอดขายได้ 8-9 หมื่นแก้วต่อวัน สร้างรายได้รวมเกือบ 3 ล้านบาทต่อวัน ธุรกิจนี้มีอัตรามาร์จิ้นสูงถึงกว่า 60% โดยภายในสิ้นปี 2565 นี้ จะได้เห็น “ตู้เต่าบิน”กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุม 5 พันตู้  ขณะที่ภายในปี 2567 จะขยายเป็น 2 หมื่นตู้ เมื่อถึงตอนนั้นคาดว่าจะสร้างยอดขายได้ประมาณวันละ 600,000–1 ล้านแก้วต่อวัน หรือมีรายได้อยู่ที่ 18–30 ล้านบาทต่อวัน (ราคาขายโดยเฉลี่ยกว่า 30 บาทต่อแก้ว) คิดเป็นรายได้รวม 6,000–10,000 ล้านบาทต่อปี

Roadmapของ “ตู้เต่าบิน” จะใช้โมเดลธุรกิจแบบ “ตัวแทนบริการ” และจะไม่หยุดแค่ตู้คาเฟ่ 24 ชั่วโมงในไทย เพราะในอนาคตแบรนด์ “เต่าบิน” อาจต่อยอดด้วยการนำเครื่องดื่มบาง Category ที่ได้รับความนิยมในตลาด มาผลิตเป็นเครื่องดื่มบรรจุขวด เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง, น้ำกัญชา รวมทั้งยังมีแผนเตรียมขยายสู่ต่างประเทศ คาดประเทศแรก คือ อังกฤษ ส่วนในภูมิภาคอาเซียน ก็มองโอกาสความเป็นไปได้ในการขยายฐานธุรกิจไปที่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ 

นอกจากนี้ FORTH ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 45% ในบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ที่ทำตู้เต่าบิน และถือหุ้น 100% ในบริษัท ฟอร์ท อีเอ็มเอส จำกัด ทำโรงงานผลิตตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ยังมีแผนจะ Spin-off สองบริษัทในเครือดังกล่าว เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็น SET หรือ mai อีกด้วย เพราะ FORTH มองว่าธุรกิจเต่าบิน เป็นธุรกิจเรือธงในการนำพาธุรกิจขยายออกไป ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ

จากปัจจุบันธุรกิจหลักของ FORTH คือการผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนในเครื่องปรับอากาศบ้าน ผลิตหุ่นยนต์ เพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจ คือ การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม และอิเล็กทรอนิกส์

FORTH ได้ตั้งเป้าหมายให้ “เต่าบิน” เป็นสปริงบอร์ดต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจเทคโนโลยี เช่น การผลิตแก้ว ผลิตกาแฟ ตั้งโรงคั่วกาแฟ หรือการทำเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของตนเอง ปัจจุบันจึงได้ทดลองขายเครื่องดื่มชูกำลังใน “ตู้เต่าบิน” แล้ว และในอนาคตหากมีเครื่องดื่มใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ก็จะผลิต และนำมาจำหน่ายผ่านตู้เต่าบินด้วย

และเมื่อ 2 ปีก่อน FORTH ได้พัฒนาตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่ได้เปิดตัว เพราะจำนวนรถไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีน้อย ดังนั้นเมื่อรถไฟฟ้ามีจำนวนมากขึ้น ตู้ชาร์จไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีโมเดลเหมือน ”ตู้บุญเติม” และ “ตู้เต่าบิน” คือแบ่งรายได้กับตัวแทน ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ ให้กับกลุ่ม FORTH ในอนาคต

 จึงอาจเรียกได้ว่า “ตู้เต่าบิน” ได้สร้างปรากฏการณ์อุ้มราคาหุ้นกลุ่ม FORTH เหินฟ้าขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหลักร้อยเปอร์เซนต์ แม้ปัจจุบันราคาหุ้นจะทรุดตัวลงบ้างแล้วก็ตาม

Back to top button