ทางออกที่ดีกว่าการปล้น

ยังคงฝุ่นตลบไม่หายเกี่ยวกับทัศนะความเห็นเรื่องค่าการกลั่น ที่รัฐจ้องเก็บจากโรงกลั่นน้ำมัน  ซึ่งก็มีทั้ง “ผู้รู้จริง”-“ผู้ไม่รู้แต่อยากแสดง” และ/หรือ “ผู้ฉวยโอกาส”


ยังคงฝุ่นตลบไม่หายเกี่ยวกับทัศนะความเห็นเรื่องค่าการกลั่น ที่รัฐจ้องเก็บจากโรงกลั่นน้ำมัน  ซึ่งก็มีทั้ง “ผู้รู้จริง”-“ผู้ไม่รู้แต่อยากแสดง” และ/หรือ “ผู้ฉวยโอกาส”

ใครเป็นใคร ความจริงภายหลังจะเป็นบทพิสูจน์

คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าที่เปิดประเด็น “คนไทยโดนปล้นค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” โดยหยิบยกเอาค่ากลั่นเปรียบเทียบช่วงตกต่ำสุดตอนโควิดระบาดในราว 87-88 ส.ต./ลิตรมาเป็น 8.56 บาทเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าในวันที่ 10 มิ.ย. 65

เล่นเอาเรียกกระแสฮือฮาได้ในสังคม และทำเนียบฯ ก็เต้นเป็นเจ้าเข้าให้หาทางลดค่ากลั่นที่เชื่อกันว่าโรงกลั่นรวยปลิ้นลงมา

ตัวเลขค่ากลั่น 8.56 บาทนี่สิ น่าสงสัย! คุณกรณ์อ้างที่มาจาก 3 แหล่งคือกระทรวงพลังงาน ไทยออยล์ และแบงก์ชาติ ผมก็ติดตามไปดูที่เว็บไซต์สนพ. (น่าจะเป็นแหล่งเดียวกับกระทรวงพลังงานที่อ้างนะ) เขาไม่มีตัวเลขเฉพาะวันให้

มีแต่ตัวเลขเฉลี่ยค่ากลั่นช่วง 1-10 มิ.ย.ยังอยู่แค่ 5.53 บาท/ลิตรเท่านั้น และค่าการกลั่นเฉลี่ย 1-23 มิ.ย.ก็ขยับเพิ่มขึ้นมาที่ 6.55 บาท เท่านั้น การระบุค่ากลั่นในวันที่ 10 มิ.ย.ถึง 8.56 บาท จึงไม่น่าจะเป็นไปได้

เช่นเดียวกับข้อมูลที่อ้างแหล่งไทยออยล์ ก็คงจะไม่มีอะไรพิสดารมากไปกว่าแหล่งสนพ. รัฐบาลนี้ช่างอ่อนไหวมากเสียเหลือเกินกับ “ข่าวโคมลอย” ที่ไม่จริงเช่นนี้

รัฐบาลฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายที่กุประเด็นให้รีดโรงกลั่นขึ้นมา ต่างก็มีความ “ชุ่ย” แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยในการแก้ปัญหาแบบมักง่าย ทำลายทั้งระบบยุติธรรมทางการค้าเสรี และระบบบรรษัทภิบาลในตลาดทุน

คงต้องทำความเข้าใจกันนะครับว่า “ค่าการกลั่น” ก็คือค่าการกลั่น คิดจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และราคาน้ำมันดิบ เป็นราคากร็อสคือ “ส่วนต่างเบื้องต้น” อย่างหยาบ ๆ ที่ยังไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วน “กำไรโรงกลั่น” ก็คือกำไรโรงกลั่น ที่คิดจากรายได้ด้านต่าง ๆ ทั้งบริษัท หักออกด้วยค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนด้านต่าง ๆ ของทั้งบริษัทรวมทั้งภาษี ค่าเสื่อม รายได้มากกว่ารายจ่ายก็คือ “กำไรสุทธิ”

ค่าการกลั่น” เอาไว้ดูเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน จึงเป็นคนละเรื่องกับ “กำไรโรงกลั่น” อย่าได้นำมาเหมารวมกันเป็นอันขาด

บางโรงกลั่นเช่น IRPC และโรงกลั่นระยองหรือ RRC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PTTGC ก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากค่าการกลั่นเลย เพราะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นไปใช้ในธุรกิจปิโตรเคมีมากกว่าธุรกิจน้ำมัน

สรุป “ค่าการกลั่น” ก็ค่าการกลั่น ไม่ใช่ “กำไรโรงกลั่น” ครับ อย่าสับสนปนเปกัน ถ้าจะปล้นหรือจะรีดกัน ก็ไปรีดกันที่ “กำไรโรงกลั่น” นี่แหละ

สมัยก่อนเมื่อปี 2551 รัฐบาลสมัยนั้นใช้คำว่า “เงินบริจาค” จากโรงกลั่น 4 แห่งในเครือปตท.จำนวน 2.2 พันล้านบาท ส่วนโรงกลั่น 2 แห่งที่เจ้าของเป็นต่างชาติคือเอสโซ่-SPRC ปฏิเสธการบริจาค เพราะหาเหตุผลไปอธิบายผู้ถือหุ้นไม่ได้ อีกทั้งไม่มีข้อกฎหมายรองรับ

ครั้งนี้โรงกลั่นต่างชาติ ก็คงไม่ขอรับบทซานตาคลอสให้รัฐบาลอีกหรอก

ธุรกิจโรงกลั่นในปี 61-62 ประสบกับการขาดทุนกันถ้วนหน้า ยามขาดทุนใครยื่นมือเข้ามาช่วยล่ะครับ รัฐบาลหรือก็เปล่า แต่ยามกำไร รัฐบาลกลับมารีดกำไรไปหน้าตาเฉย ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจเพิ่งผ่านความบอบช้ำมา

ความยุติธรรมทางการค้าเสรี รวมทั้งระบบบรรษัทภิบาลในตลาดทุนมันไปอยู่เสียที่ไหน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.จะไม่มีความรู้สึกรู้สา และร่วมหาทางออกอะไรที่ดีกว่านี้บ้างเลยหรือ

อาทิเช่น ใช้วิธีการทางตลาดทุนโดยการ “ปันผลพิเศษ” กับ 4 โรงกลั่นในอาณัติ รัฐบาลต้องการเงินเท่าไหร่จะ 2.1 หรือ 2.4 หมื่นล้านก็ว่าไป โรงกลั่นสนองได้เท่าไหร่ก็เจรจาต๊ะอ้วยกันไป “กำไรปกติ” ไม่พอ ก็ไปเอา “กำไรสะสม” มาสมทบ

วิธีการนี้ทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่-รายย่อย ต่างก็ได้รับเงินปันผลอย่างเสมอภาค หลักธรรมาภิบาลของตลาดทุน ก็จะไม่ได้รับความเสียหายและถูกลบหลู่ด้วย อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็ถือได้ว่า “ดีที่สุดในความเลวร้าย” ล่ะกัน

ทางออกที่สง่างามยังมี อย่าได้เลือกเส้นทาง “ปล้นป่าเถื่อน” เลย ทุเรศอ้ะ

Back to top button