ครม.ไฟเขียว AOT เดินหน้าคัดเลือกผู้ให้บริการ “GSE–PHS” รายใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิ

ครม. อนุมัติ ทอท. คัดเลือกเอกชนรายใหม่ เพื่อให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (GSE) และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (PHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาเดิมปี 2569 รองรับจำนวนผู้โดยสาร–เที่ยวบินขยายตัว เตรียมเปิดทางเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost เป็นเวลา 20 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 ก.ค.68) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เดินหน้าโครงการคัดเลือกผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ เพื่อให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment: GSE) และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (Passenger Handling Services: PHS) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้ ทอท. เตรียมความพร้อมในการคัดเลือกเอกชนรายใหม่ ก่อนที่สัญญาของผู้ประกอบการรายปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2569

ปัจจุบัน ทอท. มีการให้สิทธิเอกชนดำเนินกิจการ GSE จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI  ซึ่งสัญญาสิ้นสุดในปี 2583 และบริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ จำกัด ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในปี 2569

ส่วนในกิจการ PHS มีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ บมจ.การบินไทย (สิ้นสุดสัญญาปี 2583), บริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ จำกัด (สิ้นสุดสัญญาปี 2564) และบริษัท สุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด (สิ้นสุดสัญญาปี 2564)

ผลการศึกษาพบว่า ภายในปี 2575 จะมีจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ ทอท. ประเมินว่า ผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเป็น GSE จำนวน 3 ราย และ PHS จำนวน 4–5 ราย เพื่อรองรับการขยายตัวของสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต

สำหรับโครงการของผู้ประกอบการรายที่ 2 รายใหม่ ตามที่ ทอท. เสนอ มีรายละเอียดสำคัญคือ เป็นการพิจารณาให้สิทธิแก่เอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมล่วงหน้า ก่อนที่สัญญาของผู้ประกอบการเดิมจะสิ้นสุดลงในปี 2569 ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อรักษาจำนวนผู้ให้บริการในระดับที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการให้บริการและสามารถรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับขอบเขตการให้บริการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น ซึ่งครอบคลุมการให้บริการแก่สายการบิน เช่น อุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน และบริการขนถ่าย เคลื่อนย้ายสัมภาระ สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และ 2. กลุ่มบริการผู้โดยสารภาคพื้น ซึ่งครอบคลุมการจัดการทั่วไปในเขตภาคพื้น และบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารตลอดกระบวนการเดินทาง

รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จะเป็นแบบ PPP Net Cost ตามที่ ทอท. เสนอ โดยเอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 และเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง ขณะที่ภาครัฐจะได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายปี ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา โดยรูปแบบดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่มีความคุ้มค่าเงิน (Value for Money: VFM) สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการโดยรัฐหรือรูปแบบการลงทุนอื่น ๆ

ระยะเวลาโครงการกำหนดไว้ 20 ปี นับตั้งแต่วันส่งมอบพื้นที่ ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดอีกครั้งในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ส่วนของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการนั้น ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานจะตกเป็นของกระทรวงการคลัง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน ส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เอกชนจัดหา รัฐมีสิทธิตัดสินใจในวันสิ้นสุดสัญญาว่าจะซื้อในราคาตามบัญชี (คิดจากราคาทุนหักค่าเสื่อม) หรือทำสัญญาเช่าต่อ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบในหลักการ และไม่ขัดข้องต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว โดย สศช. มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ ทอท. จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนคัดเลือกเอกชน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการรายที่ 2 และผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่จะเปิดให้ร่วมลงทุนในอนาคต พร้อมเสนอให้เปิดกว้างให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการดำเนินโครงการ เพื่อให้ได้ผู้ประกอบการที่มีความเหมาะสม และสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

Back to top button