ทู่ซี้รีดโรงกลั่น

ยังไม่ฟื้นกลับมานะครับ ราคาหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน นับแต่รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประกาศแนวคิดจะเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่น เพื่อลดราคาน้ำมันลงมา


ยังไม่ฟื้นกลับมานะครับ ราคาหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน นับแต่รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประกาศแนวคิดจะเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่น เพื่อลดราคาน้ำมันลงมา

นับแต่วันที่ 10 มิ.ย 65 เป็นต้นมา ราคาหุ้นโรงกลั่นทั้ง 6 โรงไหลเละเป็นโจ๊ก โรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโรงกลั่นไทยออยล์ ซึ่งใหญ่ที่สุด และธุรกิจหลักคือการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูป ไม่ได้มีธุรกิจอื่นผสมผสาน เช่นปิโตรเคมี หรือพลังงานทางเลือก

ราคาหุ้น TOP หลุดจากระดับ 60.75 บาท มาอยู่ที่ 51.25 บาทในปัจจุบัน หายไป 9.50 บาท มาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าตลาดรวม หายจาก 123,931 ล้านบาท หายวับไป 19,380 ล้านบาท เหลือ 104,551 ล้านบาท

เมื่อแรกคิด รัฐบาลถึงกับฝันหวานเป็นตัวเลขออกมาเดือนละ 7-8 พันล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน เบ็ดเสร็จรวมเป็นเงินรีดโรงกลั่น 2.1-2.4 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

แต่เรื่องนี้ กลับยืดเยื้อมากว่า 3 สัปดาห์แล้วนะครับ รัฐบาลยังเผด็จศึกโรงกลั่นไม่ได้ แม้ว่าในโรงกลั่น 6 โรง มีโรงกลั่นที่เป็น “บริษัทลูก” ของปตท.ซึ่งน่าจะเป็น “หมูในอวย” อยู่ถึง 4 โรง

เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายยุบยับไปหมดทั้งกฎหมายพลังงาน กฎหมายหลักทรัพย์ หลักการบรรษัทภิบาล และหลักการค้าเสรี อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงความไม่ไว้วางใจของนักลงทุนต่างชาติ

ไม่ใช่ว่ารัฐบาลมองไม่เห็นอุปสรรคข้อติดขัดทางกฎหมาย รวมทั้งปัญหาความชอบธรรมทั้งทางหลักการค้าเสรีและหลักบรรษัทภิบาลความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่ไม่รู้ว่า “หน้ามืด” ต้องเอาให้ได้ หรือต้องการจะเชิดชูใครให้เป็น “อัศวินม้าขาว” หรือเปล่า ความพยายามในการรีดกำไรส่วนเกินของโรงกลั่น จึงยังคงเดินหน้าต่อไปไม่ยอมยุติ

ฯพณฯ สุพัฒนพงษ์ ยังคงประกาศลั่นว่า จะต้องเผด็จศึกโรงกลั่นให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าต้องไม่เกินสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แต่จะเผด็จศึกอย่างไรก็ยังดูเก้ ๆ กัง ๆ ยังไม่รู้จะปักธงแนวไหน

คณะทำงานของรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง “รีดโรงกลั่น” ออกมาเป็น 3 แนวทาง และแต่ละแนวทางก็มีข้อดีข้อเสียฉกาจฉกรรจ์ทั้งนั้น

แนวทางที่ 1 ใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบังคับ แต่ก็มีข้อเสียคือ อาจจะโดนโรงกลั่นต่างชาติฟ้องร้อง และก็ดูเหมือนหากสู้คดีกันไปก็อาจจะแพ้ซะด้วย เนื่องจากพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีข้อบัญญัติจำเพาะเจาะจงให้เก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ หากโรงกลั่นมีค่าการกลั่นที่สูงกว่าปกติ

เป็นการตีความกฎหมายอย่างกว้างตามที่คิดมโนเอาเอง

แนวทางที่ 2 อาจจะใช้เงินปันผลจากโรงกลั่นต่าง ๆ ส่งเข้ามาที่ปตท. และปตท.ส่งรายได้เข้าคลังเอาไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมัน แต่แนวทางนี้ก็คงจะบังคับได้เฉพาะโรงกลั่น 4 โรงในเครือปตท. โรงกลั่นต่างชาติคงไม่ให้การยินยอม และเงินที่จะได้รับ ก็คงไม่มากมายอะไรนัก

แนวทางที่ 3 คือเป็นเงินบริจาค โดยอ้างหลัก ESG ที่เป็นการตีความอย่างกว้างอีกว่า บริษัทขนาดใหญ่ควรให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสจากการบริโภคพลังงานแพง

ปัญหาก็เช่นกันอีกนั่นแหละว่า โรงกลั่นต่างชาติจะเข้าใจถึงวิธีคิดแบบไทย ๆ เช่นนี้ไหม และจะมีปัญหาการฟ้องร้องจากผู้ถือหุ้นไหม

ผมเคยเสนอในบทความก่อนหน้านี้ว่า ถ้าจะต้องเลือกแนวทางที่เลวร้ายที่สุด และดูมีอารยธรรมที่สุด ก็เลือกแนวทางที่ 2 ของรัฐบาล คือ “เงินปันผล” นี่แหละ

แต่ก็มีเสียงตอบโต้จากคนรัฐบาลว่า เงินที่ได้รับจากการนำส่งเข้าคลังของปตท. ไม่อาจจะเอาไปใช้ช่วยเหลือกองทุนน้ำมันได้ เนื่องจากมีข้อกฎหมายห้ามเอาไว้

“ห้ามยังไง” ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนสักเท่าไหร่นัก เอาเป็นว่า “ทำเช่นนั้นไม่ได้” ก็แล้วกัน และจะต้องเดินหน้ารีด “กำไรส่วนเกิน” ของโรงกลั่นโดยไม่ลดละกันต่อไป

ขอถามคำเดียวว่า “หน้ามืด” หรือต้องการจะโชว์ออฟ “อัศวินม้าขาว” ท่านใดกันล่ะ

Back to top button