SET ยังผันผวน

SET ยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจถดถอย แต่ Valuation แถว 1,500 จุด เริ่มกลับมาน่าสนใจ ช่วงสั้น SCBS มองตลาดหุ้นไทยจะยังมีความผันผวนสูง


SET ยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจถดถอย แต่ Valuation แถว 1,500 จุด เริ่มกลับมาน่าสนใจ

ช่วงสั้น SCBS มองตลาดหุ้นไทยจะยังมีความผันผวนสูงเช่นเดียวกับตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ และยังยากที่จะคาดหวังการฟื้นตัวที่เร็วแรง เพราะนอกจากจะขาดปัจจัยบวกที่ช่วยผลักดันให้บรรยากาศการลงทุนและตลาดหุ้นกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยแล้ว ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่สดใส เนื่องจากมีแรงกดดันจากธนาคารกลางหลายประเทศส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตมีเพิ่มขึ้นจากเดิม และคาดจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อ ส่งผลให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะเติบโตชะลอตัวลงในฝั่งของรายได้ ซึ่งจะเป็นภาพของการถ่ายโอนความเสี่ยงจากเศรษฐกิจมหภาคไปยังเศรษฐกิจจุลภาคมากขึ้น

ดังนั้นมุมมองการลงทุนของเราจึงยังเป็นไปอย่างระมัดระวังและเลือกลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดีช่วงที่ผ่านมาการปรับตัวลงของ SET Index คาดทำให้ Downside เริ่มจำกัด และมอง Valuation ของ SET ที่บริเวณ 1500 จุด เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้งทั้งในเชิงพื้นฐานและเชิงเทคนิค ดังนั้นสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ กลยุทธ์การลงทุนช่วงสั้นจึงแนะนำ Selective Buy” ในหุ้นคุณภาพที่มีสัญญาณการฟื้นตัวของกำไร มีปัจจัยบวกเฉพาะ และ/หรือ ราคาปรับตัวลงมาแรง ดังนี้

1) หุ้นที่ได้อานิสงส์บวกจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง (กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี อะลูมิเนียม) ซึ่งจะหนุนให้มาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น เลือก  OSP, CBG, CPF, GFPT

2) หุ้นธนาคารซึ่งงบ 2Q65 คาดกำไรเติบโตดีทั้ง YoY และ QoQ อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และ Valuation ยังไม่แพง อย่าง KBANK, BBL

3) หุ้น Defensive ที่ราคาปรับตัวลงมาแรงสะท้อนความกังวลกำลังซื้อชะลอตัวไปมากแล้ว ทำให้มี Risk/Reward ที่ดี ขณะที่โมเมนตัมกำไรยังฟื้นตัวดี เลือก BJC, CRC, HMPRO, GULF

ในทางกลับกัน ช่วงสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน สำหรับกลุ่มที่มีปัจจัยลบกดดันผลประกอบการ และ/หรือ ราคาหุ้น ดังนี้ 1) หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างกลุ่มปาล์ม (UVAN, UPOIC, VPO, CPI) ที่คาดได้ผลกระทบเชิงลบจากราคาปาล์มอยู่ในทิศทางขาลง หลังปัญหาอุปทานขาดแคลนคลี่คลายลง เพราะอินโดนีเซียเปลี่ยนนโยบายมาส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดสต๊อกด้วยการลดภาษีส่งออก รวมทั้งกลุ่มแป้งสาลีและสินค้าทดแทนกันได้อย่างแป้งมันสำปะหลัง (UBE, TMILL, TWPC) หลังคาดราคาแป้งสาลีจะปรับตัวลง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวและอุปทานข้าวสาลีทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และรัสเซีย หลังสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดจะช่วยชดเชยผลผลิตของยูเครนที่หายไปได้ 2) หุ้นที่ได้รับผลกระทบลบจากดอกเบี้ยขาขึ้น อาทิ หุ้นที่มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสูง (THANI, AEONTS, MTC, TISCO, KKP) และ หุ้นที่มีภาระหนี้สินสูง อาทิ กลุ่มขนส่งทางบก กลุ่มโรงไฟฟ้า และ 3) หุ้นขุดเหมืองซึ่งคาดได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับตัวลงมาแรงของราคา BTC และการมีต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนหรือระยะเวลาคืนทุนจะแย่กว่าคาด

สุกิจ อุดมศิริกุล

กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

Back to top button