คำตอบมีแล้ว..รอเพียงวิธีทำ.!?

วันนี้ ทั้งนักลงทุนและผู้ถือหุ้น TRUE และ DTAC กำลังใจจดใจจ่อกับไทม์ไลน์สำคัญคือการประชุม กสทช. วาระสำคัญเรื่องการควบรวม TRUE-DTAC


วันนี้ (10 ส.ค.) ทั้งนักลงทุนและผู้ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กำลังใจจดใจจ่อกับไทม์ไลน์สำคัญคือการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วาระสำคัญเรื่องการควบรวม TRUE-DTAC ว่าผลประชุมจะออกมาหน้าไหน..!?

  • ไม่มีข้อสรุปเลื่อนไปก่อน เหตุสำนักงานกสทช.จัดทำรายงานวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม 6 ประเด็น เสร็จไม่ทันที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมกสทช.วันนี้ 2) มีมติให้ควบรวมกิจการอย่างมีเงื่อนไข และ 3) ไม่เห็นชอบให้ควบรวมกิจการ

เมื่อดูตามรูปการแล้วเป็นไปได้มากสุด “กสทช.ไม่มีข้อสรุปและเลื่อนไปก่อน” ด้วยความที่สำนักงานกสทช. ไม่น่าจะสรุปวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม 6 ประเด็นที่ว่าก็คือ 1) วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจใหม่ 2) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาด 3) ผลดีต่อผู้บริโภค 4) ข้อได้เปรียบคู่แข่งขันในการถือครองคลื่น 5) แนวทางลดอัตราค่าบริการการรักษาคุณ ภาพการบริการ 6) มาตรการส่งเสริมการให้บริการ ด้วยเวลาอันจำกัดเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่มีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย อย่างกรณีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เปิดหน้าค้านว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบกิจการ TRUE-DTAC หากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการประเทศไทยคงจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยากขึ้น

“คนที่ทำมาหากินกับการค้าขายออนไลน์ คนตัวเล็ก ตัวน้อยต่อไปจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่ามือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตที่แพง จะยิ่งมีเงินในกระเป๋าน้อยลงไปอีก จึงไม่อยากให้มีการควบรวมกรณีแบบนี้”

จากผลการศึกษาพบว่าหากเปลี่ยนจากผู้ให้บริการจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ค่าบริการจะปรับขึ้น 5-6% แต่หากเปลี่ยนจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ค่าบริการจะปรับขึ้นเป็น 20-30%

ขณะที่ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ในฐานะนักวิชาการ ที่ทำรายงานการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC และดำรงตำแหน่งอนุกรรมการกสทช.ถึง 2 คณะ (อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง) ระบุว่า การศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการด้านเศรษฐศาสตร์ มีการตั้งสมมติฐานหลาย ๆ แบบ เช่น ควบรวมแล้วผู้ให้บริการต้นทุนจะลดลงแค่ไหนและผู้ให้บริการมีโอกาสฮั้วกันมากน้อยแค่ไหน..!?

จากการทำแบบจำลอง พบว่า การที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือลดลงจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 รายนั้น ตลาดจะเกิดการกระจุกตัวมากขึ้นและมีผลต่อราคาค่าบริการภายหลังการควบรวม ตัวเลขอยู่ระหว่าง 5-200% ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการฮั้วกันมากน้อยแค่ไหน..

ที่สำคัญธุรกิจโทรคมนาคมถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากมีการควบรวมกิจการจะส่งผลให้จีดีพีลดลง 0.05-2% หรือประมาณ 10,000-300,000 ล้านบาท ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.05-2% และหากไม่มีการกำกับดูแลหลังมีการควบรวมกิจการ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน..

จากผลการศึกษาการควบรวมกิจการมีตัวอย่างที่ประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้ ส่วนใหญ่มีผู้ให้บริการ 4 รายหลัก ลดเหลือ 3 ราย มีประเทศเดียวในโลกคือ ฟิลิปปินส์ ที่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย

จึงไม่แปลกใจว่าบอร์ดกสทช.ทั้ง 5 คน ทำไมถึงต้องตั้งโจทย์ให้ไปหาข้อดีจากการควบกิจการมาเพิ่มเติมเพื่อหักล้างข้อเสีย..ที่ดูจะมีน้ำหนักมากกว่า..แต่ก็ไม่รู้ซินะว่าจริง ๆ แล้วคำตอบเรื่องควบรวมมันมีอยู่แล้ว..เพียงแต่ “ต้องหาวิธีทำ” ให้มันดูสอดคล้องกับคำตอบเท่านั้นเอง..!

Back to top button