SET จะผันผวนจากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น

SCBS ยังคงมองภาพใหญ่เงินเฟ้อเริ่มชะลอลง แต่ภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการติดตามเงินเฟ้อใน 43 ประเทศพบว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเริ่มลดลง


SCBS ยังคงมองภาพใหญ่เงินเฟ้อเริ่มชะลอลง แต่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยจากการติดตามเงินเฟ้อใน 43 ประเทศพบว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเริ่มลดลงจาก 15.2% ในเดือน มิ.ย. สู่ 11.5% ในเดือน ก.ค. หากพิจารณาในรายประเทศ พบว่า 12 ใน 43 ประเทศเริ่มเห็นเงินเฟ้อเดือนล่าสุดลดลง ขณะที่ตัวเลข Flash Composite PMI ของประเทศขนาดใหญ่บ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกล่าสุดส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้น โดย PMI ในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าสู่แดนถดถอยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อในประเทศส่วนใหญ่ยังปรับขึ้นอยู่ เช่น อังกฤษ ยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ทำให้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านั้นยังคงขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ที่ Fed ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ภาพเช่นนี้ทำให้ความตึงตัวทางการเงินจะมีมากขึ้น เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณกังวลว่าเศรษฐกิจเริ่มเสี่ยงมากขึ้น ภาพเช่นนี้อาจเริ่มกลับทิศอีกครั้งได้ ขณะที่ในจีน ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหาฯ และการขาดแคลนพลังงานในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นผลจากภาวะภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีลดลง ภาพดังกล่าวทำให้ทางการต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน (1.46 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตในระดับ 4% จากการที่ภาครัฐมีการสนับสนุนสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดดอกเบี้ย LPR 1 ปี และ 5 ปี เพิ่มเติม รวมถึงการที่ปัญหาหนี้เสียภาคอสังหาฯ ยังเป็นส่วนน้อยมาก (0.3% ของสินเชื่อทั้งระบบของจีน) อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดน่าจะยังประคับประคองเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

ส่วนตลาดหุ้นไทย SCBS มองว่า ในช่วง 1.5 เดือนที่ผ่านมา SET Index ปรับขึ้นเกือบ 9% จากจุดต่ำสุดรอบนี้ ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงที่เริ่มลดลง และรับกระแสเงินทุน (Fund Flow) ที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดยังมีท่าทีหนักแน่นต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อไปเพื่อลดเงินเฟ้อ

แม้จะมีต้นทุนต่อเศรษฐกิจก็ตาม คาดจะกดดันบรรยากาศลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมทั้ง SET Index ให้มีความผันผวนสูงและมีการปรับขึ้นได้จำกัดมากขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงควรเลือกกลุ่มลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้

  1. หุ้น Big Cap. ที่คาดได้อานิสงส์ Fund Flow ไหลเข้า และ Valuation ยังไม่แพง เลือก BBL, PTT, IVL, AOT
  2. หุ้นที่คาดไตรมาส 3/65 กำไรเติบโตดีทั้งจากงวดเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้าเลือก CPALL, SCGP, CENTEL
  3. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากแอปเปิลเตรียมจัดอีเวนต์ใหญ่เปิดตัว iPhone 14 ในวันที่ 7 ก.ย. เลือก COM7, CPW, SYNEX ซึ่งเน้นเก็งกำไรเล่นรอบสั้น ๆ ก่อนวันเปิดตัวสินค้าใหม่

ในทางกลับกัน ช่วงสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน สำหรับกลุ่มที่มีปัจจัยลบกดดันผลประกอบการ และ/หรือ ราคาหุ้น ดังนี้

  1. หุ้นที่คาดได้ Sentiment ลบจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี BDI ซึ่งล่าสุด BDI Index ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี 2 เดือน อาทิ กลุ่มเดินเรือเทกอง
  2. หุ้นที่คาดอาจได้รับผลกระทบลบจากสุญญากาศทางการเมืองที่อาจทำให้การประมูลงานล่าช้าออกไป อาทิ กลุ่มรับเหมา กลุ่มขนส่งทางรางและโรงไฟฟ้า
  3. หุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply chain หลังจีนเผชิญภัยแล้งรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์

Back to top button