เงินเยนเสื่อมค่า เพราะกับดักที่ทำเอง

เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ล่าสุดอ่อนค่าแตะระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี


เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ล่าสุดอ่อนค่าแตะระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี และเป็นการอ่อนค่าลงติดต่อกัน 14 วัน ซึ่งเป็นสถิติการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องที่ยาวนานสุดในรอบ 50 ปี สาเหตุหลักมาจากตกเป็นเหยื่อของมาตรการป้องกันเงินเฟ้อของเฟดฯ นักลงทุนในตลาดเงินหรือฟอเร็กซ์ พากันอธิบายถึงเหตุผลการทิ้งเงินเยนจากแรงกังวลว่า ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังจากมีกระแสว่า Fed จะเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี ขณะที่ BOJ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินนโยบายกำหนดเป้าหมายบอนด์ยีลด์

สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเป็นครั้งที่ 14 ติดต่อกัน ลดลง 0.3% มาอยู่ที่ 129.35 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักค้าเงินเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จนคาดหมายว่า โอกาสที่จะหลุดไปมากกว่า 130 เยนต่อดอลลาร์ หรือ เทียบกับบาทไทยแล้ว 100 เยนจะลดลงมาต่ำกว่า 25 บาท อันเป็นอัตราต่ำสุดของเยนเทียบกับบาท

การเสื่อมค่าของเงินเยน ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน จะเกิดจากเจตนา หรือแรงกังวลของตลาด ไม่ใช่คำถามสำคัญอีกแล้ว เพราะค่าเงินเยนที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ เทียบกับสกุลเงินท้องถิ่น และสกุลหลัก สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในค่าเงินญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้เลวร้ายลงไปมากมาย อาจจะช่วยทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นดีขึ้นด้วยซ้ำ

ปัจจัยที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากต่อเนื่อง มาจากการที่นักลงทุนให้ความสนใจเกี่ยวกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ หลังมีกระแสคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนนักลงทุนก็คล้อยตามเสียงของนักวิเคราะห์ค่าเงินในญี่ปุ่น ที่มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรืออาจจะเร็วกว่านั้น

ชินสุเกะ คาจิตะ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของ Resona Holdings, Inc. ในโตเกียว กล่าวว่า โมเมนตัมขาขึ้นของค่าเงินเยน เทียบกับดอลลารสหรัฐฯ ดูเหมือนจะผ่านพ้นไม่ได้ในขณะนี้ เพราะสถานการณ์ที่ผลตอบแทนบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นไปได้มากที่จะได้เห็นค่าเงินเยนอ่อนค่าไปแตะระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ตามคาดการณ์

ปัจจัยที่ทำให้บรรดานักค้าเงินแห่ซื้อสกุลเงินดอลลาร์และเทขายเงินเยน โดยสัญญาณแรกที่ได้รับเกิดขึ้นเมื่อ เจมส์ บูลลาร์ด ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ สายเหยี่ยวในเฟดฯ กล่าวว่า อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปี 2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นายบูลลาร์ด กล่าวย้ำถึงท่าทีดังกล่าว ในการประชุมทางไกล ที่จัดต่างหากออกไปอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป และว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปีนี้ โดยเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่อัตราว่างงานซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 3.6% ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 3%

ผลพวงของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นจะสวนทาง ให้นักลงทุนกระหน่ำขายเงินเยนกันอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำต่อไป ซึ่งสวนทางกับ Fed ที่ต้องการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย

ตราบใดที่ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-Easy Monetary Policy) เงินเยนก็จะอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ และการเข้าแทรกแซงตลาดของ BOJ ก็แทบจะไม่ได้ผล หลังจากที่ล้มเหลวในครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1998 ทางการญี่ปุ่นได้เคยเข้าแทรกแซงตลาดครั้งหลังสุดด้วยการเทขายดอลลาร์และทุ่มซื้อเงินเยน ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียหรือวิกฤตต้มยำกุ้ง

ครั้งนี้ แรงกดดันต่อค่าเงินเยนยังจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินอย่างจริงจัง หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคลายความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

ล่าสุด BOJ ยังคงดื้อรั้นด้วยการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษด้วยการซื้อพันธบัตรรอบใหม่แบบไม่จำกัด เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน โดยจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ 0.25% เนื่องจากผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึงระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ยอมรับได้

กับดักของรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทางธนาคารกลางคือ การกำหนดอัตราผลตอบแทนสูงสุด 10 ปีที่ BOJ กำหนดไว้ที่ 0.25% ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขายเงินเยน ซึ่งนักค้าเงินบางรายคาดว่า BOJ จะดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นตามระยะ แต่ก็ชั่วคราวเท่านั้น

ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นและกระตุ้นให้ธนาคารกลางประเทศนั้น ๆ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ฝั่ง BOJ กลับมีความมุ่งมั่นในการผ่อนคลาย ไม่ยอมถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เลย จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในยามที่สังคมญี่ปุ่นกำลังเผชิญวิกฤตที่แก้ยากกับการเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวที่ยากจะก้าวข้ามได้

ยามนี้ ใครผู้แก้ปัญหาของญี่ปุ่นยากเต็มที

Back to top button