เลิกสินเชื่อรถสันดาป..สู่แรงดันรถ EV

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วย COP26 มีหนึ่งประเด็นร้อน ที่จะทำให้โลกแห่งยานยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง


การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 มีหนึ่งประเด็นร้อน ที่จะทำให้โลกแห่งยานยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ร่างข้อตกลงที่เสนอโดยสหประชาชาติที่ว่าด้วยการยุติการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ภายในปี 2035 และยุติธุรกรรมการขายทั่วโลกภายในปี 2040

โดยกว่า 20 ประเทศลงนามเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว อาทิ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ไอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, เดนมาร์ก, กัมพูชา, และอื่น ๆ ที่รวมถึงประเทศไทยด้วย..

สำหรับสหรัฐฯ และจีน ที่ตัวเลขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 40% ของโลก ประกาศยกระดับความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อตอบสนองต่อแนวทางของสหประชาชาติ โดยสหรัฐฯ มีแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เป็นศูนย์ภายในปี 2035 ส่วนจีน มีแผนลดการใช้ถ่านหินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 15 ปี

แต่ทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่ได้ลงนามให้คำมั่นสัญญาว่า ยุติการขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในปี 2040

จากผลพวงว่าด้วยข้อตกลงดังกล่าว หนึ่งประเทศที่ออกตัวแรงสุด คือ ประเทศออสเตรเลีย ที่ล่าสุด Bank Australia ที่มีชื่อเสียงด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตรียมยุติการปล่อยสินเชื่อสำหรับการซื้อรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป เพื่อกระตุ้นให้คนในประเทศหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยยังปล่อยสินเชื่อรถยนต์เครื่องสันดาปมือสองต่อไป จนกว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอ…

ปัจจุบันออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าต่ำกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีรถยนต์ในออสเตรเลียเพียง 20,665 คัน (2%) โดย Tesla Model 3 ได้รับความนิยมมากสุด 12,000 คัน แต่ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่เกือบ 5 เท่า

การหยุดให้สินเชื่อสำหรับซื้อรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปของ Bank Australia ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะช่วงปี 2020 Merkur Cooperative Bank ธนาคารในประเทศเดนมาร์ก เคยประกาศยกเลิกการปล่อยสินเชื่อสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาแล้วก่อนหน้านี้

เช่นเดียวกันหลายประเทศในยุโรป อยู่ระหว่างประกาศแผนจะยุติการใช้รถยนต์น้ำมัน โดยเฉพาะอังกฤษและสหภาพยุโรป มีแผนทำให้รถตู้ขนส่งสินค้าและรถยนต์ใหม่ทั้งหมดต้องใช้พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2030 และ ปี 2035

โดยปี 2021 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำยอดขายได้ทั่วโลกถึง 6,600,000 คัน และช่วงไตรมาส 1/2021 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 2 ล้านคัน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 75%

ข้อมูลจาก International Energy Agency ประมาณการว่า ปี 2030 ทั่วโลกจะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนมากถึง 145 ล้านคัน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ออกนโยบายว่าภายในปี 2035 และเตรียมยกเลิกการขายรถยนต์น้ำมัน พร้อมสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น ลดอัตราภาษีสรรพสามิต ยกเว้นหรือลดอัตราอากรนำเข้าสำหรับชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

จากเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้น ผนวกกับแรงดันจากธุรกรรมการเงินดังกล่าว ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังกลายเป็นโอกาสการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ว่าแต่ใครจะฉกฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านมากหรือน้อยเท่านั้นเอง..!?

Back to top button