ปฏิบัติการชี้โพรงให้กระรอก

หากเราคนไทยขี้สงสัยแบบทฤษฎีสมคบคิด เราจะมองเห็นความไม่ปกติของสำนักงานกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายหลักของรัฐไทย กับกสทช.


หากเราคนไทยขี้สงสัยแบบทฤษฎีสมคบคิด เราจะมองเห็นความไม่ปกติของสำนักงานกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายหลักของรัฐไทย กับกสทช.ในกรณีการตีความข้อกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับดีลควบรวมกิจการของยักษ์ใหญ่อันดับ 2 และสามของวงการโทรคมนาคมได้ชัดเจนยิ่ง

เพียงแต่ถ้าเราไม่ใช่คนขี้สงสัยแบบสมาคมพิทักษ์ผู้บริโภคอย่างที่คุณพี่สารี อ๋องสมหวังเป็นกรรมการและผู้บริการหลัก ก็คงผ่านเลยไปได้ไม่ยากเย็น

นั้นคือ ปล่อยให้ดีลควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กับบริษัท DTAC เกิดขึ้นอย่างสะดวก

การตีความของกฤษฎีกาเรื่องที่กสทช. ขอความอนุเคราะห์ให้สนง.นี้ช่วยยืนยันความสามารถของกสทช.ว่าจะอนุมัติเลยได้หรือไม่ โดยที่คำตอบล่าสุดคือได้ แถมยังเป็นข้อบังคับอีกด้วยว่าต้องได้ เพราะตามประกาศของกสทช.เองในปี 2561 ระบุชัดเจนว่าการควบรวมสามารถทำได้ถ้าหากสามารถสร้างหลักประกันได้ว่า เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประชาชน

แล้วที่ปรึกษากฎหมายรายใหญ่นี้ ยังย้ำต่ออีกว่า “กสทช.ต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่ไปกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคม”

ผลพวง ของคำแนะนำดังกล่าว ทำให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ตามที่ กสทช.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อตีความอำนาจพิจารณาการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค

ทาง สำนักงาน กสทช. “ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย และได้ส่งต่อประธานกสทช.เพื่อที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในลำดับต่อไป”

ผลลัพธ์ในท้ายที่สุดของกระบวนพิจารณาดังกล่าว คงไม่เป็นที่สงสัยกันเลยว่าจะลงเอยกันอย่างไร หลังจากที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาออกความเห็นเกี่ยวกับอำนาจของกสทช. เพื่อใช้เป็นข้อการพิจารณาการประกาศ กสทช.ปี 2561 ขึ้นมาแทน ซึ่งกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้กสทช.

โดยมีทั้งกรณีที่ต้องรายงานก่อนล่วงหน้าและรายงานหลังจากรวมธุรกิจแล้ว สอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น

เนื่องจากประกาศตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561 ให้ความเห็นว่าการควบรวมกิจการกระทำได้ โดยหลังจากการควบรวมแล้วบริษัทแค่แจ้งการกระทำให้ กสทช.ทราบก็เกินพอแล้ว

การที่กสทช.ถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเท่ากับการถามว่าที่พี่ออกคำสั่งไปนั้น ทำได้หรือไม่

ดังนั้นเมื่อคำตอบแบบที่ออกมาว่าทำได้เลย ก็เท่ากับเปิดไฟเขียวทุกแยกให้กับกสทช.อนุมัติให้ทุนกับดีแทค ร่วมส้องเสพกันได้เพราะ บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่มีปัญหาเหมือนกรณี “ป๋าเหลิม” ท้อบริการทางเพศเด็กสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี

ข้อคิดเห็นทางกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงมากกว่าแค่ “เป็นประตูทางออกสำหรับ กสทช.ในการพิจารณาการรวมกิจการทรู+ดีแทค” เพราะว่าเป็นเรื่องที่ถามพอเป็นพิธีเท่านั้นเอง

เท่ากับว่าดีลนี้ซึ่งคาราคาซังกันมาเกือบ 9 เดือน ในการพยายามสร้าง “พันธมิตรของคนแพ้” ด้วยการผนึกพลังของหมายเลข 2-3 ในธุรกิจโทรคมนาคมไทย ด้วย “กลยุทธ์ในการเร่งแก้ปัญหา” ของทั้งสองค่ายอย่าง TRUE และ DTAC ที่พยายามแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่จะย่ำแย่ไปกว่านี้ จากการที่ผู้ใช้บริการจะเคลื่อนย้ายไปใช้บริการของเจ้าตลาดอย่างค่าย ADVANC มากขึ้นต่อเนื่อง

มติของคณะกรรมการหรือบอร์ดของ TRUE, DTAC ที่อนุมัติศึกษาควบรวม และรับทราบการทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะมีผลให้เกิดการตรวจสอบกิจการ (Due diligence) ของทั้งคู่ วิธีการสร้างพลังผนึกหรือควบรวมกิจการที่กำหนดให้มีการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่แทนที่ TRUE และ DTAC โดยย้ายทรัพย์สินของทั้งสองรายเข้าไปอยู่ในบริษัทใหม่ เพื่อสร้างหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์หรือ Strategic partner ถือว่าค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร

การดำเนินการตามขั้นตอนในการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท โดยเบื้องต้นมีการเซ็น MOU ร่วมกัน แบบไม่มีผลผูกพัน เพื่อบันทึกความประสงค์ในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการควบบริษัท และจัดตั้ง บริษัทใหม่ขึ้นมา พร้อมทั้ง กำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของทั้งสองรายในอัตราส่วนดังนี้ คือหุ้นเดิมของ DTAC สามารถแลกได้ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ 1 หุ้นเดิมของ TRUE สามารถแลกได้ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ ส่วนอัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นถูกกำหนดขึ้น จากสมมติฐานที่ว่าภายหลัง การควบรวมบริษัทนั้น บริษัทใหม่จะมีหุ้นออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดจำนวน 138,208,403,204 หุ้นโดยมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาทที่ใกล้เคียงกับจำนวนวนหุ้นของทั้งสองค่ายที่ใช้สิทธิแปลงตามอัตราข้างต้น

แถมยังมีอัตราการแลกหุ้นในเครือข่ายที่ยุ่งขิงตามมาอีกมากมายให้ปวดหัวเล่นเต็มไปหมด และที่สำคัญราคาซื้อขายบนกระดานของบริษัทใหม่ไม่น่าจะสวยงามเท่าใดนักเพราะมีแต่ความใหญ่ที่ไร้คุณภาพมากเกินขนาด

ทั้งนี้ บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศ

มองจากมุมเบื้องต้น จะเห็นถึงกลยุทธ์ของทั้งสองค่ายในการร่วมกันสร้างหลังผนวกในครั้งนี้ดังนี้คือ

1.ดีลที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างไร  เพราะปัญหาอยู่ที่ราคา เมื่อใด และอย่างไรเท่านั้น   เนื่องจากทั้งสองค่ายล้วนเริ่มหมดแรงจะต่อสู้กันเองและถูกทิ้งห่างจากเบอร์ 1 ในการแข่งขันตามสูตร Innovation disruption ของคริสเตนเซ่น ที่ยืมและดัดแปลงจากแนวคิดทางประวัติศาสตร์ชุมปีเตอร์ จึงรวมตัวเพิ่มความอยู่รอดเป็นการรับมากกว่าการบุกเพื่อยึดครองส่วนแบ่งการตลาดตามปกติ

2.การควบรวมอาจจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทหลังการควบรวมมีส่วนแบ่งเป็นผู้นำตลาดชั่วคราว แต่ไม่ได้สะท้อนความสามารถในการแข่งขัน และทำกำไร เนื่องจากที่ผ่านมา TRUE มีอัตรากำไรสุทธิที่ต่ำมากเพียงแต่ไม่เกิน 4.5% ส่วน DTAC ก็มีอัตรากำไรสุทธิที่ถดถอยลงจากที่เคยทำได้ถึง 8% ในขณะที่ ADVANC มีความสามารถสูงกว่ามากคือไม่เคยต่ำกว่า 15% ในขณะที่บางปีสูงกว่า 18% ด้วยซ้ำ

3.การควบรวมอาจจะทำให้ต้นทุนการแข่งขันต่ำลงไปบ้าง แต่ภาระของการรวมกิจการที่อาจจะต่างวัฒนธรรมองค์กร อาจจะส่งผลเสียต่ออัตรากำไรสุทธิได้เพราะจะต้องมีขั้นตอนการโละพนักงานบางส่วนในขั้นตอนเกิดขึ้นแน่นอน

4.การควบรวมทำให้เข้าสูตรกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ที่นำทีมโดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ทำดีลควบรวม ระดับเกิน 1.0 แสนล้านบาทต่อเนื่องอีกปี ทำสิ่งที่มากกว่าแฮตทริกเป็นปีที่ 7 ต่อเนื่องกันนับแต่ดีลเพิ่มทุนทรูขายหุ้นในไชน่า เทเลคอม  จ่ายเงินทุ่มซื้ออันประกันภัยในจีน ควบรวมแม็คโครในอาเซียน ควบรวมเทสโก้โลตัส จนถึงล่าสุด เป็นลูกหนี้รายใหญ่สุดของอาเซียนหรือของเอเชียที่เข้าข่าย Too big to fall

5เทเลนอร์ของนอร์เวย์สามารถถอนทุนเพื่อถอนตัวจากการบริหารธุรกิจที่มีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น ที่เหลือคือการทำตนเป็น Silent partner ที่มีเก้าอี้ในบอร์ดเท่านั้น ไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไป

6.การเติบโตทางลัดในลักษณะ Inorganic คือ “โตแต่ด้อยคุณภาพกว่าคู่แข่ง” ในสภาวะที่ตลาดเปลี่ยนจากตลาดของผู้ขาย เป็นตลาดของผู้ซื้อ อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ได้สวยงามดังคาดเพราะอัตรากำไรอาจจะวิ่งสวนทางกับรายได้

ดีลขนาดใหญ่มากเช่นนี้ แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงผลต่อผู้บริโภค จากเดิมประชาชนซึ่งเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้เลือก แต่เมื่อเหลือ แค่ 2 เจ้า ย่อมมีคำถามตามมา โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ผลตอบแทนที่อาจจะไม่คุ้มกับสิ่งที่มีโอกาสเสีย ในตลาดที่เริ่มจะอิ่มตัว

คำแนะนำของศาสดาปลอมแห่งตลาดหุ้น (หรือนักวิเคราะห์ขาเชียร์ทั้งหลาย) ที่บอกว่าดีลของ 2 ผู้พ่ายแพ้ จะกลายเป็นผู้ชนะ ไม่น่าจะเกิดขึ้นให้เห็นในเร็ววัน

เช่นเดียวกันกับความระแวงสงสัยของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์แห่ง TDRI และหรือนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ที่จะพลาดความเข้าใจที่แท้จริงไป

แม้ว่ากสทช. จะเล่นเกมชี้โพรงให้กระรอกเปิดไฟเขียวผ่านตลอดก็ตาม

Back to top button