รัฐ (ขอ) แจง ‘ไม่ใช่ผู้ร้ายค่าไฟแพง’

มีคำชี้แจงจาก สราวุธ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า สาเหตุที่ค่าไฟแพงขึ้น “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ใช่ต้นเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” นะ


มีคำชี้แจงกลับมาทันที..จาก “สราวุธ แก้วตาทิพย์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและกำลังแพงอยู่ขณะนี้ “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ใช่ต้นเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” นะ..

กรณีข้อพิพาทการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ระหว่างรัฐบาลไทยและผู้รับสัมปทานรายเดิมของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาท ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทานในการรื้อถอนฯ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ล่าช้าแต่อย่างใด

“การเข้าพื้นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้สามารถดำเนินการในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ”

แต่แอบเสียดายไปนิด..ระดับอธิบดีกรมเชื้อฯ ออกมาทั้งที..น่าจะให้ข้อมูลกับ “สามัญชนคนใช้ไฟ (แพง)” สักนิดว่าตกลงเราต้องนำเข้า LNG ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อชดเชยก๊าซฯ ที่ล่าสุดแหล่งเอราวัณผลิตได้เพียง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น เพื่อจะได้เตรียมใจกันว่ารอบหน้าจะขึ้นค่า Ft อีกเท่าไหร่.!?

อีกอย่าง “กฎกระทรวงพลังงานปี 2555” ที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขสัมปทานแหล่งเอราวัณ เรื่องการใช้ประโยชน์จากแท่นผลิตของผู้รับสัมปทานเดิม (เชฟรอน) น่าจะหยิบยกขึ้นมาชี้แจงแถลงไขเพื่อให้ได้รู้ชัด ๆ กันไปเลยว่าตกลงปัญหาเกิดมาจาก “เด็กดื้อหรือผู้ใหญ่ไม่ยอม” กันแน่..!?

เอานะ..หรือมันอาจเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานระบบราชการไทยหรือไม่ก็มิทราบได้..

อีกหนึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่อ่าวไทย นั่นคือพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ที่เคยมีจุดเริ่มต้นจากที่ประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียนช่วงปลายปี 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพและจะเริ่มการเจรจาช่วงต้นปี 2563

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสมัยนั้น ยืนยันไทยมีความพร้อมด้านข้อมูลเรียบร้อยแล้วและจะเป็นการเจรจาเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในอนาคต และ “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” เป็นผู้จัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับ OCA ด้านปิโตรเลียมให้กับรัฐมนตรีพลังงาน..

จากวันนั้นมาถึงวันนี้..รมว.พลังงานเปลี่ยนไป..แต่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคนเดิม และรมว.ต่างประเทศก็ยังเป็นคนเดิม แต่เรื่องนี้กลับเงียบหายไป..!?

ทั้งที่น่าจะเป็นทางเลือกกับการแก้ปัญหาความมั่นคงและเสถียรภาพของราคาก๊าซธรรมชาติ ที่สำคัญทดแทนการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคามีความผันผวน เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีโอกาสถูกลง และสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้อีกทาง

ที่สำคัญ “ต้นทุนการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ” น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

ว่าแต่รัฐบาลไทยจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อใดเท่านั้นเอง..อย่าลืมนะว่า “พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA) ถือเป็นโมเดลแบบอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้ว..!!

ส่วนบรรดาผู้เรียกร้องปลุกระดมเรื่อง “จะเสียดินแดน” น่าจะต้องมีเหตุผลกันได้แล้วมั้ง..!!

Back to top button