AIT แหกกรอบธุรกิจใหม่

ระหว่างที่หลายคนจดจ่อกับการที่ SABUY ของ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ทยอยเก็บหุ้น AIT มาเรื่อย ๆ จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แทน “กลุ่มอุ่นทรพันธุ์”


ระหว่างที่หลายคนจดจ่อกับการที่บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ของ “เฮียชูเกียรติ รุจนพรพจี” ทยอยเก็บหุ้นบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT มาเรื่อย ๆ จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วน 15.13% แทน “กลุ่มอุ่นทรพันธุ์” โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการถือเป็น 21.1% นั้น…

ก็มีคำถามตามมาว่า หลังจากนี้ “เฮียชูเกียรติ” จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรใน AIT หรือไม่.?? อย่างไร.??

แต่ระหว่างที่ยังรอความชัดเจนอยู่นั้น…AIT ไปก่อนไม่รอแล้วนะ ด้วยการขยับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการปลูกป่าสักเชิงเศรษฐกิจ จำนวน 176.8 ล้านบาท เนื่องจากมองเห็นโอกาสการสร้างผลตอบแทนทางการเงินในระยะยาว เช่น การจำหน่ายคาร์บอนเครดิต การจำหน่ายไม้สัก เป็นต้น

เอ๊ะ..ถ้าจะบอกว่า นี่เป็นการแหกกรอบธุรกิจของ AIT ก็คงไม่ผิดนัก..!?

เพราะธุรกิจดั้งเดิมของ AIT นั้น เป็นผู้ออกแบบระบบเครือข่ายและระบบสื่อสารอย่างครบวงจร เน้นรับงานภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมีลักษณะการให้บริการเป็นแบบเบ็ดเสร็จ หรือเทิร์นคีย์ (Turn Key) ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวางแผนงานโครงการ การออกแบบระบบ การดำเนินการ การติดตั้ง การฝึกอบรม และการซ่อมบำรุงรักษา

ซึ่งถ้าดูปัจจัยพื้นฐานถือว่าแข็งแกร่ง…ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2561 มีรายได้รวม 4,237 ล้านบาท กำไรสุทธิ 236 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 7,076 ล้านบาท กำไรสุทธิ 392 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 6,730 ล้านบาท กำไรสุทธิ 394 ล้านบาท และปี 2564 มีรายได้รวม 7,034 ล้านบาท กำไรสุทธิ 527 ล้านบาท

ส่วนช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ตุนกำไรสุทธิไว้แล้ว 430 ล้านบาท จากรายได้รวม 4,997 ล้านบาท

ขณะที่ จุดผันแปรของ AIT น่าจะอยู่ที่งานส่วนใหญ่เป็นงาน By Project ทำให้ต้องขวนขวายหางานใหม่เข้ามาเติมอยู่เรื่อย ๆ ก็เลยเป็นที่มาของการขยับไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

ส่วนสาเหตุที่โฟกัสไปที่ธุรกิจซื้อขายมลพิษ…อาจเป็นเพราะเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ จากการที่โลกธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มทำเงินได้มหาศาลในอนาคต สะท้อนได้จากในปี 2564 ตลาดคาร์บอนเครดิตโลกมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่คาดการณ์ว่าในปี 2573 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นหลาย ๆ บริษัทเริ่มเบนเข็มมาสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น ที่ขยับไปแล้วก็เป็นบริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ซึ่งก่อนหน้านี้ได้งานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ประจำปี 2565 จำนวน 11,445.81 ไร่ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี

กลับมาที่ AIT การแหกกรอบธุรกิจครั้งนี้ ก็คงช่วยหนุนการเติบโตได้ไม่มากก็น้อย…ซึ่งถ้า AIT โตดีและโตแรงงงส์ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น SABUY ของ “เฮียชูเกียรติ” นั่นแหละ

ว่าแต่ SABUY ไล่เก็บหุ้น AIT ต่อเนื่องอย่างนี้ ระวังเก็บเพลิน เดี๋ยวจะเข้าข่ายต้องตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ ไม่รู้ด้วยนะ

เอ๊ะ..!! หรือนี่เป็นการวางเกมไว้ตั้งแต่แรกปะคะ “เฮียชูเกียรติ” ขาาา..!!??

…อิ อิ อิ…

Back to top button