บางกอกแอร์เวย์ส ผลงานเริ่มฟื้น

BA เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงความคึกคักของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย


เส้นทางนักลงทุน

ภาคอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อโลก และความกังวลสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากธนาคารกลางทุกประเทศทั่วโลกหันมาใช้นโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงความคึกคักของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่วโลก

BA ดูดีขึ้น เห็นได้จากงบไตรมาส 3 ของปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 396 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 6,987.3 ล้านบาท BA มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ บวกด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 502.6 ล้านบาท ปรับปรุงดีขึ้น 188.4% เทียบกับปีก่อน ติดลบ 568.4 ล้านบาท

ขณะที่ มีรายได้รวม 3,941.4 ล้านบาท ดีขึ้น 486.3% เทียบกับปี 2564 มีรายได้รวม 672.3 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้บัตรโดยสารจากธุรกิจสายการบิน 2,677.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,969.2% เพราะจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเพิ่มมากขึ้น

ในไตรมาส 3 นี้ BA ขนส่งผู้โดยสาร 0.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2,950.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 77.2% และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 3,304.1 บาท เพิ่มขึ้น 55.1% ทำให้รายได้จากการขายและบริการซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินอยู่ที่ 662.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 331.3 ล้านบาท หรือ 99.9% เทียบกับปีก่อนหน้า

รายได้จากการขายและบริการส่วนใหญ่มาจากรายได้ของบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด 360.4 ล้านบาท รายได้จากบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 288.1 ล้านบาท และมีรายได้อื่น 177.6 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเทียบกับปี 2564 จากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมบัตรโดยสารหมดอายุ

ในไตรมาส 3 นี้ BA ได้ปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางบินที่มีปริมาณความต้องการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น เส้นทางกรุงเทพ-สมุย เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-พนมเปญ และสมุย-สิงคโปร์ และได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินกรุงเทพ-มัลดีฟส์ กรุงเทพ-เสียมเรียบ กรุงเทพ-ย่างกุ้ง และกรุงเทพ-ดานัง

นอกจากนั้น ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางกรุงเทพ-หาดใหญ่ และสมุย-หาดใหญ่ ในเดือนกรกฎาคม 2565 ด้วย

หากมองภาพกว้างขึ้น BA มีผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 2,274.5 ล้านบาท มีผลขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่ากับ 2,260.4 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 1.08 บาท ดีขึ้น 73.1% เทียบกับงวดปีก่อน ขณะที่ EBITDA งวด 9 เดือนแรกของปีนี้เท่ากับ 486.2 ล้านบาท ปรับปรุงดีขึ้น 149.9% เทียบกับปี 2564 ที่ติดลบ 973.4 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ

BA มีรายได้รวม 8,121.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133.9% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 3,472.4 ล้านบาท เป็นสัดส่วนรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน และธุรกิจสนามบิน 63.7%, 20.9% และ 2.1% ของรายได้รวม ตามลำดับ

รายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน 5,173.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,595.5 ล้านบาท หรือ 794.8% จากจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565

9 เดือนแรกของปี 2565 BA ขนส่งผู้โดยสาร 1.7 ล้านคน มีจำนวนเที่ยวบิน 19,648 เที่ยวบิน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 376.1% และอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 74.2% โดยมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 2,972.7 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 48.9% เมื่อเทียบกับปี 2564

รวมทั้งจากการขายและบริการซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 1,696.4 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 63.2% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 414.5 ล้านบาท และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด 217.7 ล้านบาท จากการกลับมาปฏิบัติการบินของสายการบินต่าง ๆ

BA มีส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนในบริษัทร่วมใน 123.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ

นอกจากนี้ มีส่วนแบ่งกำไร 330.6 ล้านบาท ลดลง 20.0% เป็นผลจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย และส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด 25.8 ล้านบาท

แนวโน้มไตรมาส 4 ของ BA น่าจะยังดีต่อเนื่องในแง่ผู้โดยสาร เพราะเป็นช่วงไฮซีชั่น (High Season) ของการท่องเที่ยว แต่ค่าโดยสารโดยเฉลี่ยอาจไม่ดีเท่าไตรมาส 3 เนื่องจากเป็นช่วงมรสุมของเกาะสมุย รวมทั้งจะเริ่มรับรู้ค่าใช้จ่ายที่ให้กับกองทุน BAREITS เต็มไตรมาส ทำให้ในไตรมาสนี้ผลการดำเนินงานน่าจะยังติดลบอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมทั้งปีนี้ของ BA จะยังคงขาดทุน แต่แนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการบินน่าจะช่วยให้ BA พลิกฟื้นกลับมาได้อีกไม่นาน

Back to top button