ภาษีขายหุ้น ผลงานโบว์ดำ ‘อาคม’?

ประเด็นภาษีขายหุ้น คงจะถูกกล่าวถึงกันอีกพอสมควร


ประเด็นภาษีขายหุ้น คงจะถูกกล่าวถึงกันอีกพอสมควร

หากจะถามว่า ยังพอมีหนทางยับยั้งได้หรือเปล่า

คำตอบของคำถามนี้ในทางทฤษฎียังถือว่า “ได้”

เพราะหากยังไม่มีการประกาศในราชกิจจาฯ ยังพอมีทางที่จะระงับยับยั้ง เช่น มีเสียงไม่เห็นด้วยมากขึ้น กลุ่มการเมืองหวั่นว่าจะได้รับผลเชิงลบในสนามเลือกตั้ง

หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ

จำได้ว่าเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องของภาษีเทรดหุ้นมาแล้ว 2-3 ครั้ง

เรื่องของภาษีหุ้นมีแนวคิดที่จะจัดเก็บมานานมากแล้วล่ะ หรือ 30-40 ปี นับจากช่วงที่ตลาดหุ้นเปิดใหม่

สภาพัฒน์ คือหน่วยงานหลักที่พยายามชงเรื่องภาษีหุ้นมาโดยตลอด

ทว่า ที่ผ่านมาทางคลังไม่ได้ตอบสนองประเด็นนี้ซักเท่าไหร่

เพราะในฝั่งของเอกชนเอง ได้พยายามให้ข้อมูลกับทางคลังว่า ตลาดหุ้นไทยเองนั้น ยังไม่ได้มีความพร้อม และจะนำไปเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้

เช่น สหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส สิงค์โปร์ และอีกหลายประเทศ

ประเด็นสำคัญคือ ตลาดหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market หรือ EM (ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่)

ไม่มีประเทศไหนในกลุ่มนี้เขาจัดเก็บภาษีขายหุ้นกัน

ไทยจึงเป็นประเทศแรกที่เก็บภาษีขายหุ้น

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นี้ ทำให้เรื่องภาษีหุ้นจึงถูกพับไว้ก่อน เพื่อรอให้ตลาดหุ้นไทยมีความพร้อมจริง ๆ

นับจากในช่วงที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีตเลขาฯ สภาพัฒน์ เข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลัง

มีการให้สัมภาษณ์หลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นทำนองว่า “ควรจัดเก็บ”

แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีความคืบหน้า

กระทั่งล่าสุด สิ่งที่อดีตเลขาฯ สภาพัฒน์ต้องการ ได้ถูกดำเนินการจนได้

ทราบมาว่า ในที่ประชุม ครม.เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

มีเสียงทักท้วงอยู่พอสมควร

แม้กระทั่งนายกฯ เองได้ถามว่า ศึกษามาดีแล้วใช่ไหมว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรตามมา

ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ต่างแสดงความเห็นว่า เป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง จึงยังไม่น่าจะดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ในช่วงเวลานี้

แต่จนแล้วจนรอดเรื่องของภาษีขายหุ้น ได้ถูกดันออกมาจนได้

มุมมองของคนในวงการตลาดทุน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

การไม่เห็นด้วยไม่ใช่หมายความว่า ไม่อยากเสียภาษี

แต่เป็นเรื่องของความไม่พร้อมจากการที่ไทยยังเป็นประเทศที่ (ตลาดทุน) กำลังพัฒนา

ผลกระทบที่ถูกยกออกมาพอจะรวบรวมได้

เช่น สภาพคล่องในตลาดวูบ, ผลประกอบการของโบรกฯ ลดลงส่งผลต่อการเสียภาษีนิติบุคคลของโบรกฯ, บริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นลดลง, เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ระดมทุนยากขึ้นจากสภาพคล่องในตลาดหายไป การเคลื่อนไหวของฟันด์โฟลว์ และอีกหลายผลกระทบที่อาจจะตามมา

ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้

มีการส่งคำเตือนไปยัง รมว.คลังว่า อาจจะเผชิญกับการ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

คงต้องมาดูกันว่าหลังการเก็บภาษีดังกล่าว

ปัญหาจะมีตามมาอย่างไร

และหากเกิดขึ้นจริง

น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของ รมว.คลังคนนี้

Back to top button