ปมร้อน รินใจ VS ชาญชัย

เปิดใจ “ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์” สนทนากับ “ชาญชัย สงวนวงศ์” ว่าด้วยเรื่องบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA


เปิดใจ “ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์” รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX สนทนากับ “ชาญชัย สงวนวงศ์” ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ว่าด้วยเรื่องบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ผู้ผลิตเซมิ-คอนดักเตอร์ หรือ “ชิป” สินค้าแห่งยุคสมัย ซึ่งมีฐานผลิตใหญ่ที่ไต้หวันและกิจการในไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสัญชาติไต้หวัน สร้างความปั่นป่วนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังปรับปรุงเกณฑ์คัดเลือกหุ้นเข้าดัชนี SET50 และ SET100 โดยปรับลดเกณฑ์ Turnover Ratio หรือปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อเดือน จาก 5% เป็น 2% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด

ชาญชัย : เปิดศักราชปี 2566 เมื่อวันอังคารที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,678.97 จุด เพิ่มขึ้น 10.31 จุด ดูไปแล้วก็เหมือนว่าตลาดหุ้นจะรับศักราชใหม่ด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะหุ้นใน SET50 น่าจะปรับตัวขึ้นเกือบทุกตัว แต่ในความเป็นจริง มีเพียงหุ้น DELTA เพียงตัวเดียวเท่านั้น และยังเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายอันดับ 1 โดยปรับตัวขึ้นมา 100 บาท หรือ 12% และทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้น 10 จุด ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริงของตลาด แล้วทำไมทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีการปรับเกณฑ์ Turnover Ratio จาก 5% เป็น 2%

ดร.รินใจ : เนื่องจากในอดีตหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET50 ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มี Turnover Ratio อยู่ที่ระดับ 5% แต่ปัจจุบันพฤติกรรมของนักลงทุนเปลี่ยนไป หันมาลงทุนหุ้นขนาดเล็กมากขึ้น ทำให้สัดส่วน Turnover Ratio ของหุ้นขนาดใหญ่ปรับลดลงต่ำกว่า 5% ซึ่งหุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้มีความสำคัญกับตลาดฯ เกรงว่าถ้าหลุดจาก SET50 จะกระทบต่อภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีการปรับเกณฑ์ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศ รวมทั้งดัชนีสำคัญ เช่น FTSE และ MSCI ซึ่งใช้เกณฑ์ Turnover Ratio อยู่ที่ 1-2% เท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดสากล จึงเห็นควรว่าจะต้องปรับลดเกณฑ์ Turnover Ratio ลงจาก 5% เหลือ 2%

โดยเรื่องนี้ได้มีการทำเฮียริ่งกับบริษัทจดทะเบียน, บล., บลจ., กองทุนต่าง ๆ รวมทั้งนักลงทุนรายย่อยแล้ว ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้กับหุ้น SET50 รอบครึ่งแรกปี 2566

ชาญชัย : การปรับเกณฑ์ครั้งนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับหุ้น DELTA เป็นการเฉพาะหรือเปล่า ?

ดร.รินใจ : ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการทำเพื่อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่การปรับเกณฑ์ Turnover Ratio ครั้งนี้ เป็นการมองภาพรวมและผลประโยชน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ชาญชัย : ในช่วงที่ผ่านมาสภาพตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ดัชนีหลักทรัพย์ก็สะท้อนความเป็นจริงนะ แต่อยู่ ๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มาปรับเกณฑ์ Turnover Ratio ซึ่งเปิดทางให้หุ้น DELTA ถูกดึงเข้ามาคำนวณในดัชนี SET50 และสร้างความบิดเบือนให้กับตลาดฯ ก็อยากจะเรียนถามว่ากับกรณีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อะไร ? และนักลงทุนรายย่อยจะได้ประโยชน์อย่างไร ?

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเสนอแนะต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ 1)การทบทวนปรับเกณฑ์ Turnover Ratio ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ? เพราะหากดูฟรีโฟลตหุ้น DELTA ถือว่าน้อย จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบิดเบือนดัชนีตลาดได้ง่าย

2)ตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นต่างประเทศไม่เหมือนกัน บริบทของตลาดมีความแตกต่างกัน โดยตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่บริษัทจดทะเบียนจะเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ทั้งนั้น จึงไม่ควรนำหลักเกณฑ์จากตลาดหุ้นต่างประเทศมาใช้กับตลาดหุ้นบ้านเรา อย่าคิดแค่ว่า “เขามี แล้วเราต้องมีด้วย”

และ 3)อยากให้ทบทวนเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น เนื่องจากหลาย ๆ ตลาดในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ ก็ไม่ได้มีการเก็บภาษีขายหุ้น ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยเพิ่งแซงหน้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ได้แค่ 3 ปี การที่ตลาดหุ้นไทยจะมาเก็บภาษีขายหุ้น อาจฉุดให้มูลค่าการซื้อขายลดลง เป็นการทำลายตลาดหุ้นไทย

ดร.รินใจ : ขอบคุณคุณชาญชัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมจะกลับไปทบทวนและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าว

Back to top button