‘เงินเฟ้อ’ แค่บรรเทาแต่ยังไม่เชื่อง

ตลาดหุ้นที่ได้ดีดตัวในช่วงสัปดาห์ต้น ๆ ของปีนี้หาทางทะยานสู่ระดับต่อไปได้อย่างลำบาก เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศยังสูงมาก


ตลาดหุ้นที่ได้ดีดตัวในช่วงสัปดาห์ต้น ๆ ของปีนี้หาทางทะยานสู่ระดับต่อไปได้อย่างลำบาก เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศยังสูงมาก แม้ว่าจะลดลงจากปีที่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เข้าใกล้เป้าหมายที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศตั้งไว้เลย

การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาที่ผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศกำลังปวดหัวว่าจะทำให้มันเชื่องลงได้อย่างไร

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ดัชนีซีพีไอเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดในเดือน มกราคม โดยอยู่ที่ 0.5% และเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับเดือน มกราคมของปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2564 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้นคือค่าเช่าบ้านและค่าอาหารสูงขึ้น

ในกรณีของสหรัฐฯ ราคาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้เกิดความกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ยเร็วอย่างที่คาดการณ์กันไว้ในก่อนหน้านี้ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นผิดหวังและร่วงลงหลังรับรู้ตัวเลขดัชนีซีพีไอเมื่อวันอังคาร แต่กลับมาดีขึ้นในวันพุธเมื่อตัวเลขยอดขายปลีกเพิ่มขึ้น 3% ในเดือน มกราคม

อีกประเทศหนึ่งที่เงินเฟ้อยังเป็นปัญหาอมตะและแก้ไม่ตก คือ อาร์เจนติน่าตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มกราคมพุ่งสูงถึง 6% ตามคาด แต่เงินเฟ้อรายปี อีกนิดเดียวก็จะพุ่งแตะ 100% แล้ว โดยสูงถึง 98.8% สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงช่วงปี 2533

เงินเฟ้อที่พุ่งสูงลิบลิ่วเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน และทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 75%  ในขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลประธานาธิบดีอัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน ตุลาคม  ขณะนี้โพลต่าง ๆ ชี้ว่า  พรรคฝ่ายค้านกำลังมีคะแนนนำทั้งสิ้นเนื่องจากชาวอาร์เจนติน่าเบื่อหน่ายกับเงินฟ้อและโทษว่าเป็นเพราะการบริหารเศรษฐกิจที่ไม่ดี และรัฐบาลยังพิมพ์ธนบัตรออกมามาก

ใกล้บ้านเราเข้ามาอีกนิด  ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่เพิ่งได้รับเลือกเมื่อเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา ได้พยายามอย่างหนักที่จะทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ว่าจะลดเงินเฟ้อ แต่เมื่อดูตัวเลขในเดือน มกราคม  เงินเฟ้อยังสูงถึง  8.7%  เนื่องจากราคาอาหารพุ่งขึ้นถึง 11.2% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

ฟิลิปปินส์ก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในโลกที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับการนำเข้าพลังงาน แต่ราคาอาหารหลัก ๆ ต่างหากที่พุ่งสูงขึ้นจนสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัส

ราคาหอมใหญ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูอาหารฟิลิปปินส์เกือบทั้งหมด กำลังมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์  โดยพุ่งขึ้นจากประมาณ 70 เปโซ  หรือประมาณ 43 บาทต่อกิโลกรัมในเดือน เมษายนเป็น 700 เปโซ หรือ 434 บาท ในเดือน ธันวาคม

ความแพงของหัวหอมทำให้คนในประเทศเปรียบเทียบกับทองคำและได้แสดงความคับแค้นใจให้เป็นอารมณ์ขันบนโซเชียล กรณีที่โด่งดังคือ มีการพูดถึงเจ้าสาวจากเมืองอิโลอิโลเดินถือช่อหัวหอมระหว่างเข้าพิธีในโบสถ์   และร้านขายดอกไม้แห่งหนึ่งในเมืองหลวง จัดช่อดอกไม้ที่ประดับด้วยหอมใหญ่และพริก ขายในวันวาเลนไทน์ปีนี้

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สาขาแห่งหนึ่งของบริษัท แจแปน โฮม เซนเตอร์ ซึ่งเป็นเชนร้านค้าปลีกที่ได้รับความนิยมในกรุงมะนิลา ยอมให้ลูกค้าจ่ายเงินด้วยหอมใหญ่ 1 วัน และสัญญาว่าจะบริจาคหัวหอมให้กับธนาคารอาหารที่จะนำไปให้ครอบครัวที่ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบได้

สำหรับบ้านเราเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เงินเฟ้อยังดีกว่ามาก  โดยเดือน มกราคมขยายตัว 5.02% ต่ำกว่าที่คาดและชะลอตัวลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน จาก 5.98% ในเดือน ธันวาคม เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานและอาหารลดลง

แต่ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อในหลายประเทศจะเดินหน้าไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องหรือบรรเทาลง   ยังมีหนทางอีกยาวไกล และค่อนข้างลำบากที่จะทำให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ  เนื่องจาก “สงครามยูเครน” ที่เป็นต้นตอหลักดันเงินเฟ้อพุ่งทะยานทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

สิ่งที่จะช่วยทำให้เงินเฟ้อเชื่องลงได้ คือ ฝีมือในการบริหารเงินเฟ้อของรัฐบาลให้กลับไปสู่เป้าหมายโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย…คงต้องรอ “ปาฏิหาริย์” ถ้าต้องอาศัยฝีมือของรัฐบาลลุงตู่ !!

Back to top button