FDI มาเลย์ฯ แซงไทย

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือบอนด์ ยีลด์ พุ่งทะลุ 5.05% ไปแล้ว สำหรับพันธบัตรอายุ 2 ปี และพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 30 ปี ก็ปริ่มจะทะลุ 4% ในไม่ช้า


ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือบอนด์ ยีลด์ พุ่งทะลุ 5.05% ไปแล้ว สำหรับพันธบัตรอายุ 2 ปี และพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 30 ปี ก็ปริ่มจะทะลุ 4% ในไม่ช้า ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณจะปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก

นั่นย่อมหมายถึง เงินจะยังคงไหลออกจากตลาดทุนเข้าไปตลาดตราสารหนี้ และเงินทุนต่างชาติก็ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะฟันด์โฟลว์ไหลออก คงไม่สิ้นสุดลงในเร็ววันนี้ ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุน

โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยเวลานี้ ที่เจอแรงขายกระหนาบ 2 ด้าน ทั้งจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน

ช่วงนี้ การประเมินมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของชาติในอาเซียน ก็มีการประกาศเป็นทางการออกมาแล้ว อัตราการเจริญเติบโตสูงสุดอันดับ 1 คือมาเลเซีย จีดีพีโต 8.7% เวียดนามตามมาเป็นอันดับ 2 จีดีพีโต 8.0%

ฟิลิปปินส์อันดับ 3 จีดีพีโต 7.6% อินโดนีเซียโต 5.3% สิงคโปร์โต 3.6% ส่วนไทยเราต่ำคาด จีดีพีโตได้แค่ 2.6% เท่านั้น จากคาดการณ์เดิมไว้ 3.6% เลยต้องเอาเป้าเก่ามาตั้งเป็นเป้าใหม่ในปีนี้

ข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานพัฒนาการการลงทุนแห่งชาติมาเลเซีย (MIDA) รายงานภาพรวมการลงทุนในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดมูลค่า 264,600 ล้านริงกิต คิดเป็นเงินไทยที่อัตราแลกเปลี่ยน 7.91 บาท/ริงกิต ก็จะเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,092,986 ล้านบาทไทย

แยกเป็นเงินลงทุนในประเทศ คิดเป็นร้อยละ38.3 ที่มูลค่า 101,300 ล้านริงกิตหรือ 801,283 ล้านบาท และเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นร้อยละ 61.7 ที่มูลค่า 163,300 ล้านริงกิต หรือ 1,291,703 ล้านบาท

ในขณะที่ของไทยเรา มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 664,630 ล้านบาท ส่วนขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI มีมูลค่า 433,971 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าทั้งมูลค่าการลงทุนรวม และส่วนของ FDI ระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้น ยิ่งนับวันยิ่งห่างกันมาก

มูลค่าการลงทุนรวมของมาเลเซียเหนือกว่าไทยในสัดส่วนประมาณ 3:1 และ FDI ก็เหนือกว่าไทยในสัดส่วน 3:1 เช่นเดียวกัน

ซาฟรูล เตงกู อับดุล อาซิส รัฐมนตรีการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม เปิดเผยความมุ่งมั่นของเขาว่า มาเลเซียจะต้องก้าวไปข้างหน้า สู่การเป็นประตูการลงทุนหรือเกต เวย์ของทวีปเอเชียให้จงได้

“เรากำลังพยายามทุกทางที่จะสร้างมาเลย์เป็นฮับดิจิทัลของอาเซียน จากการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระดับสูง โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า คลังความรู้ทางวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และหลักนิติธรรม”

น่าทึ่งในวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญของมาเลเซียท่านนี้ ที่มีเป้าหมายภารกิจชัดเจนไปถึงการจัดวางตำแหน่งฐานะประเทศในอนาคต และไม่เพียงจะสร้างชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับ ”หลักนิติธรรม”

อันจะยังความยุติธรรม ไม่ก่อความแตกแยกในบ้านเมือง เหมือนเช่นชาติเพื่อนบ้านทางทิศเหนือที่ทำสงครามสีมาเกือบจะ 2 ทศวรรษกันแล้ว

มาเลเซีย ชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ในอาเซียน กำลังก้าวเดินในเส้นทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างคึกคักยิ่ง

Back to top button