Baskin Robbins ไอศกรีมละลาย.!

ทันทีที่เพจเฟซบุ๊ก “บาสกิ้นร็อบบิ้นส์ประเทศไทย” ขึ้นสถานะว่า “ปิดถาวร” พร้อมกับเบอร์โทรศัพท์สาขาต่าง ๆ ถูกยกเลิก นั่นเป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่า ได้ปิดกิจการในประเทศไทยอย่างถาวรแล้ว


ทันทีที่เพจเฟซบุ๊ก “บาสกิ้นร็อบบิ้นส์ประเทศไทย (@BaskinRobbinsThailand)” ขึ้นสถานะว่า “ปิดถาวร” พร้อมกับเบอร์โทรศัพท์สาขาต่าง ๆ ถูกยกเลิกและบางสาขามีเพียงระบบฝากข้อความนั่นเป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่า Baskin Robbins ได้ปิดกิจการในประเทศไทยอย่างถาวรแล้ว

การเดินทางเข้าไทยของไอศกรีม Baskin Robbinsโดยบริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) หรือ MUD สืบทอดกิจการมาจากบริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด จากก่อนหน้านั้นโกลเด้น สกู๊ป จำกัด ได้เข้าซื้อ Baskin Robbins จากบริษัท บิ๊กสกู๊ป จำกัด มูลค่า 47 ล้านบาท เมื่อปี 2555

การปิดตัวลงครั้งนี้ หนีไม่พ้นการปลดเปลื้องภาระขาดทุนตลอดทศวรรษที่ผ่านมาและเมื่อย้อนดูงบการเงินช่วง 4 ปีหลังที่ผ่านมา ยังไม่สามารถพลิกมีกำไรได้เลย

เริ่มจากปี 2560 รายได้ 110 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 11.8 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้ 112 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 9.8 ล้านบาท, ปี 2562 รายได้ 103 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 10.2 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้ 63 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 10.4 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้   52 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 7.4 ล้านบาท

แบรนด์ร้านไอศกรีม Baskin Robbins ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) อายุ 78 ปีมีจุดเริ่มต้นจากชาย 2 คนที่ทำธุรกิจร้านไอศกรีมด้วยกันทั้งคู่ นั่นคือ “Burt Baskin” เปิดร้านไอศกรีม Burton’s Ice Cream ที่รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1945 กับ “Irv Robbin” เปิดร้านไอศกรีมที่แคลิฟอร์เนีย และเป็นน้องเขยของ Burt Baskin ต่อมาทั้งคู่ได้รวมธุรกิจเข้าด้วยกันและก่อตั้งแบรนด์ “Baskin-Robbins” ที่โด่งดังทั่วโลก

ปัจจุบัน Baskin Robbins เชนร้านไอศกรีมระดับโลก ที่มีสาขาอยู่ในกว่า 50 ประเทศ ด้วยจำนวสาขาเกือบ 8,000 สาขาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย

ที่ผ่านมาการทำตลาดของ Baskin-Robbins ไอศกรีมทุกชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้ามาจากสหรัฐอเมริกาโดยเป็นมาตรฐาน Baskin Robbins ที่ทำตลาดแบบเดียวกันทั่วโลก

สำหรับ Baskin Robbins ในประเทศไทย นับจากปี 2563 ที่มีสาขากว่า 34 สาขา มีการลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง และปี 2564 เหลืออยู่เพียง 10 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นร้านรูปแบบคีออสก์ พื้นที่ประมาณ 20-30 ตารางเมตรและปี 2565 ลดลงเหลือเพียง 4 สาขา (โรงพยาบาลศิริราช, เค วิลเลจ1 และ เดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์

ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ร้าน Baskin-Robbins แจ้งยกเลิกพื้นที่เช่าและ “ปิดกิจการ” ทุกสาขาในประเทศไทย

การปิดกิจการ Baskin-Robbins ในประเทศไทย ทำให้ “มัด แอนด์ ฮาวด์” เหลือธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจไลฟ์สไตล์อีกหลายแบรนด์ มีร้านลิขสิทธิ์แฟรนไชส์อย่างร้านโดนัท แบรนด์ Dunkin Donuts ภายใต้บริษัท โกลเด้นโดนัท (ประเทศไทย) จำกัด, ร้านเบเกอรี่ แบรนด์ Au Bon Pain ภายใต้บริษัท เอบีพี คาเฟ (ประเทศไทย) จำกัด

ส่วนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อย่างเกรฮาวด์ คาเฟ่ (Greyhound Cafe), ร้านอนาเธอร์ฮาวด์ คาเฟ่ (Another Hound Cafe), ร้านเกรฮาวด์ ออริจินอล, ร้านครัวเอ็ม และ ร้านเลอ กรองด์ เวฟู

ด้วยภาวะการแข่งขันสูงเช่นนี้น่าจับตาว่าสุดท้ายแล้วแบรนด์ร้านลิขสิทธิ์อาหารและเครื่องดื่มเชนระดับโลกจะยืนหยัดอยู่ได้อีกนานเท่าไร..!?

Back to top button