หุ้น IPO ต้องผ่านอะไรบ้าง

ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน ก.ล.ต. มีการทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องหุ้น “ไอพีโอ ก่อนเสนอขายประชาชนต้องผ่านอะไรมาบ้าง"


ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

มีการทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องหุ้น “ไอพีโอ ก่อนเสนอขายประชาชนต้องผ่านอะไรมาบ้าง”

ก.ล.ต.บอกว่า ตลาดหุ้นไทยมีศักยภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน 2565 มีมูลค่าระดมทุนและมูลค่าการซื้อขายต่อวันสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ด้วยมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ที่ 581,063.32 ล้านบาท

ส่วนจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาด mai อยู่ที่ 809 บริษัท

ในปี 2565 มีการระดมทุนเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อประชาชน (Initial Public Offering: IPO) ไปแล้ว 42 หลักทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 127,835.82 ล้านบาท

ข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ตลาดทุนเป็นแหล่งทุนที่สำคัญ

ด้านหนึ่งเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ รวมถึง SMEs เข้ามาระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ต่อเนื่อง

และอีกด้านหนึ่ง เป็นทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายสำหรับประชาชน และผู้ลงทุน เพราะการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนจะเข้าไปร่วมเป็นเจ้าของกิจการ

ดังนั้น บริษัทที่จะระดมทุนจึงต้องเป็นบริษัทที่มีการบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

กรรมการมีความสามารถในการบริหารงาน

และมีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ตัดสินใจก่อนลงทุน จึงจะสามารถเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้

จากข้อมูลมีการระบุถึงบทบาทของ ก.ล.ต.

คือ มีหน้าที่หลักพิจารณาอนุญาตให้บริษัทเสนอขายหุ้นต่อประชาชน

โดยพิจารณาอนุญาตการเสนอขายหุ้น IPO จากเกณฑ์ด้านคุณสมบัติเชิงคุณภาพของระบบบริหารจัดการ

เช่น มีโครงสร้างการถือหุ้นที่ชัดเจน กรรมการและผู้บริหารต้องมีความรู้ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย

นอกจากนี้ งบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและมีความน่าเชื่อถือ

ที่สำคัญคือ “มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมเพียงพอ”

รวมทั้งดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจครบถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน การวิเคราะห์งบการเงิน รวมทั้งที่มาของการกำหนดราคาเสนอขาย (ราคา IPO) ในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน

อีกทั้งต้องมีระบบงานที่มั่นใจได้ว่าจะสามารถเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่อง

เช่น งบการเงิน หรือแบบ 56-1 One report เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อผู้ลงทุน

จึงมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายส่วนที่มีส่วนร่วมในการคัดกรองคุณภาพ อาทิ

– ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) คือ ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. มีความเป็นอิสระจากบริษัท ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัท เช่น การจัดโครงสร้างธุรกิจหรือการบริหารจัดการให้มีความชัดเจนและโปร่งใส รวมทั้งการจัดเตรียมเอกสารการเปิดเผยข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในหนังสือชี้ชวนที่จะเปิดเผยกับประชาชน

– ผู้สอบบัญชี คือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่า งบการเงินของบริษัทมีความน่าเชื่อถือ

– ผู้ตรวจสอบภายใน คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ

– กรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) คือผู้ที่จะช่วยตรวจสอบการดำเนินงานบริษัทและให้ความเห็นในเรื่องที่สำคัญ เช่น ความสมเหตุสมผลของการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือ ความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน โดยมีการทำงานร่วมกับผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในอย่างใกล้ชิด

ก.ล.ต. เผยข้อมูลอีกว่า บริษัทที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติข้างต้น

ไม่ได้เป็นการการันตีว่า ภายหลังจากระดมทุนแล้ว บริษัทจะมีผลกำไรเสมอไป

เพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะมาจากหลายปัจจัย และการดำเนินธุรกิจย่อม “มีความเสี่ยง”

หรือความเชื่อที่ผิด ๆ ที่ว่าถ้าสามารถจองซื้อหุ้น IPO ได้ จะสามารถทำกำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อขายเมื่อหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แน่นอน

เพราะการกำหนดราคา IPO เป็นการกำหนดราคาโดยอ้างอิงหลักทฤษฎีทางการเงินหรือจากการสำรวจ demand/supply ก่อนการเสนอขายหุ้น

ทว่า เมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว สถานการณ์หรือความต้องการอาจเปลี่ยนแปลงไป

การขึ้นลงของราคาหุ้นเป็นผลมาจากหลายปัจจัย

ทั้งจากปัจจัยภายในบริษัท รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สภาวะของตลาดทุน ทั้งในและต่างประเทศ

Back to top button