พาราสาวะถี

เริ่มเห็นเค้าลางกระบวนการพิจารณารับรอง ส.ส.ของ กกต.ทั้ง 6 คนแล้วว่าจะไปในทิศทางใด หลังผ่านการเลือกตั้งมาเกือบจะครบ 1 เดือน


เริ่มเห็นเค้าลางกระบวนการพิจารณารับรอง ส.ส.ของ กกต.ทั้ง 6 คนแล้วว่าจะไปในทิศทางใด หลังผ่านการเลือกตั้งมาเกือบจะครบ 1 เดือน นอกจากยังไม่มีว่าที่ ส.ส.คนใดได้รับรองให้เป็น ส.ส.แล้ว ยังมีทีท่าว่าการรับรองนั้นจะล่าช้าออกไป ที่หวังว่าจะทำกันเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้อาจจะไม่แน่เสียแล้ว ล่าสุด กกต.มีมติให้มีการนับคะแนนใหม่ 47 หน่วยเลือกตั้ง โดยเป็นแบบบัญชีรายชื่อ 31 หน่วยจากปมปัญหาคะแนนเขย่ง อันเป็นความผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

ขณะที่คะแนนแบบแบ่งเขตสั่งให้นับใหม่ 16 หน่วย กรณีของ ส.ส.แบบแบ่งเขตผลของการนับคะแนนใหม่ ไม่น่าจะกระทบต่อผลแพ้ชนะในการเลือกตั้ง หากทั้งหมดไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน เพราะคะแนนแต่ละหน่วยหากมีความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มาก ที่น่าสนใจคือ 31 หน่วยเลือกตั้งในส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คะแนนเขย่งที่เกิดขึ้นหากมีจำนวนมาก ก็จะส่งผลต่อการคำนวณ ส.ส.ของบางพรรคการเมืองได้ แต่ท่ามกลางการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของภาคประชาชน องค์กรเอกชน และพรรคการเมือง ข้อผิดพลาดหนนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดผลในแง่การเพิ่มหรือลดของจำนวน ส.ส.เท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม การเงื้อง่าราคาแพงไม่ได้ทำให้ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเกิดความหวั่นไหว และเชื่อกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเตรียมพร้อมเข้าสู่อำนาจบริหาร ในทางตรงข้ามกลับจะเป็นแรงกดดันย้อนกลับไปหาฝ่ายทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองผลอย่าง กกต.เสียมากกว่า เพราะยิ่งยืดเยื้อยิ่งถูกวิจารณ์และมองว่าเจตนาที่จะเตะถ่วงเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ยิ่งมีเสียงอื้ออึงมากเท่าไหร่มันย่อมกระทบชิ่งไปที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการอยากอยู่ยาวมากขึ้นเท่านั้น

ฝ่ายประชาธิปไตยเอาเฉพาะที่เลือกพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยกว่า 25 ล้านเสียง ย่อมมองเห็นถึงความพยายามขององคาพยพขบวนการสืบทอดอำนาจว่าทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะสกัดไม่ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ ขณะเดียวกัน นอกจากจะตั้งคำถามในเชิงกังขาแล้ว จะตามมาด้วยความเคลื่อนไหวที่หากลากยาวกันไปเรื่อย ๆ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความอดทนของภาคประชาชนน่าจะมีจำกัด และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เหมือนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ตั้งคำถามกลับมายังสื่อมวลชน นักข่าวมักถามว่า กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจว่าอย่างไร โดยไม่ค่อยได้ยินคำถามว่าประชาชนทั่วไปว่าอย่างไร เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน อำนาจเป็นของประชาชนโดยแท้ ทั้งที่ความเป็นจริง กกต.เป็นแต่เพียงผู้จัดการให้มีการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่แก้ไขเมื่อมีปัญหา ขณะนี้เป็นเรื่องประชาธิปไตยของประชาชน

แน่นอนว่า ไม่เฉพาะประชาชนที่วันนอร์ได้สัมผัสจากการลงพื้นที่เท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตั้งคำถามไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อไหร่จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ “เขารอเพื่อจะเห็นรัฐบาลมาแก้ปัญหาของพวกเขา” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความเห็นของหัวหน้าพรรคประชาชาติที่ว่า อยากให้สื่อมวลชนได้สะท้อนความรู้สึกของประชาชนมากกว่าเรื่อง กกต.ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน ประชาชนกว่า 70 ล้านคนอยากสะท้อนอะไร อันนี้คือปัญหาใหญ่ของประเทศในวันนี้ และปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตย

ไม่เพียงแต่การให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันที่ร่วมประชุมกับ 8 หัวหน้าพรรคร่วมตั้งรัฐบาลเท่านั้น วันนอร์ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องด้วยว่า ปัญหาใหญ่และมักเป็นปัญหาสำหรับประเทศนี้คือ “เรามักจะให้ค่าและกลัวเผด็จการ” ดังนั้น ควรเลิกกลัวเผด็จการเสียที ควรจะหมดยุคของการฟังเผด็จการ หรือฟังคำพูดของกลุ่มคนที่ถูกสถาปนาโดยอำนาจเผด็จการ ต้องฟังประชาชนได้แล้ว เพราะเวลานี้เป็นของประชาชนที่อยากได้รัฐบาลของประชาชน ควรให้น้ำหนักกับประชาชน ไม่ใช่เผด็จการ

พิจารณาจากท่วงทำนองของวันนอร์แล้ว มองต่อไปได้ว่าจุดยืนของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลคงไม่ต่างกัน มีเป้าหมายเพื่อจะตั้งรัฐบาลนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และส่งเผด็จการสืบทอดอำนาจกลับบ้าน แม้หนทางจะยังขรุขระ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าผลของการเลือกตั้งที่ออกมา จะไม่ทำให้เกิดการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางด้านกฎหมาย มาทำลายฉันทามติของประชาชนได้ เพียงแต่ว่า การเกิดขึ้นของรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังต้องร้องเพลงรอการรับรองจาก กกต.นั้น บทสรุปเพื่อนำไปสู่การโหวตเลือกนายกฯ จะออกมาอย่างไร

แทบจะไม่มีอะไรพลิกผันไปจากที่เคยบอกไปก่อนหน้า กรณีที่พิธาตกสวรรค์ ก้าวไกลกลายเป็นพรรคอันดับสอง จำเป็นจะต้องใช้บริการแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย มีข่าวที่ช่วยยืนยันเรื่องการดัน เศรษฐา ทวีสิน มาเป็นผู้นำประเทศไม่ใช่ แพทองธาร ชินวัตร จากการหารือกันของคนในตระกูลชินวัตร เห็นตรงกันว่ายังไม่ถึงเวลาด้วยพรรษาทางการเมืองและวัยวุฒิที่ยังถือว่าน้อยเกินไป โดยที่อุ๊งอิ๊งเองก็ยอมรับชั่วโมงบินของตัวเองยังไม่ถึง

แบไต๋ออกมาแบบนี้ก็สอดรับกับการหารือกันของหัวหน้าพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคที่ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองไปถึงกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ กรณีพิธาสลัดไม่หลุดพ้นข้อกล่าวหาเรื่องหุ้นไอทีวีตรงนี้ไม่เป็นปัญหาก็ต้องใช้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยให้ที่ประชุมเลือก แต่การที่หาก กกต.ไม่รับรองว่าที่ ส.ส.และกว่า 20 รายเป็น ส.ส.ของก้าวไกลเกือบทั้งหมด จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเกม เปลี่ยนตัวผู้เล่น โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่าถ้าเป็นรายของเศรษฐาก็ไม่ได้ขี้เหร่กว่าพิธาแต่อย่างใด

ย้ำไว้ก่อนหน้าอีกเช่นกัน การถกกันของคนตระกูลชินวัตรที่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นผู้นำในการคุยนั้น เห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ทักษิณเดินทางกลับประเทศในเดือนกรกฎาคมตามที่เจ้าตัวประกาศไว้ ไม่ใช่ว่าอยากให้ตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน เพราะคงไม่มีผลอะไรต่อการที่จะกลับมารับโทษและสู้คดี ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ทุกคนเห็นตรงกันว่า “กลัวจะถูกหลอก” คำถามตัวโตที่ตามมา หลอกเรื่องอะไร ใครหลอก แล้วมีข้อตกลงอะไรกันไว้ เชื่อแน่ว่าคนจำนวนไม่น้อยก็พอจะเดาได้ว่าอะไรเป็นอะไร

Back to top button