เสี่ย อ. รับทุบตึก!

ประเด็นของตลาดหุ้นคงไม่มีอะไรตื่นเต้นเร้าใจเท่ากับเรื่องราวของหุ้นร้อนที่กำลังตกเป็นขี้ปากชาวหุ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันกระทบกับเงินในกระเป๋านักลงทุนโดยตรง


ประเด็นของตลาดหุ้นคงไม่มีอะไรตื่นเต้นเร้าใจเท่ากับเรื่องราวของหุ้นร้อนที่กำลังตกเป็นขี้ปากชาวหุ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันกระทบกับเงินในกระเป๋านักลงทุนโดยตรง ส่งผลให้หลายคนอยากรู้ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นรูดมหาราชในเวลาไม่กี่วันที่ผ่าน และยังทำให้ชาวหุ้นกระเหี้ยนกระหือรือที่จะขุดคุ้ยคนที่อยู่หลังม่านไม้ไผ่แบบนี้ เดี๊ยนถึงต้องกระโดดลงมาร่วมแจมกับบรรดาขาเผือกด้วยคนเจ้าค่ะ

โดยเฉพาะการร่วงลงแบบ “ไร้ลิมิต ชีวิตติดหล่ม” ของหุ้นมหาละลวยอย่าง OTO ก็ก่อให้เกิดคำถามมากมายหลายเรื่อง และทุกอย่างก็มาจบตรงที่ “เสี่ย อ. เลื่อนลอย” แต่ในปัจจุบันกลายเป็น “เสี่ย อ. รับทุบตึก” หลังหุ้นที่เกี่ยวพันกับเสี่ยคนดังพังพาบไม่เป็นท่า จนขาใหญ่ที่เคยร่วมลงทุนบ่นพึมพำไม่ขาดปากว่า ไม่น่าเลยกู! และพูดกับคนใกล้ตัวว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะไปสอบถามความจริงจากปากเสี่ย เพราะสุดท้ายก็ไม่ได้ความจริงอีกตามเคย..อิอิอิ

ส่วนฉายาที่คนในวงการหุ้นตั้งให้ ก็มาจากป้ายโฆษณา “ศักดารับทุบตึก” ทั่วราชอาณาจักร และด้วยฝีมือการทุบตึกที่เลื่องระบือไปทั่วประเทศ ทำให้ทุกคนได้เห็นการทุบซะเหี้ยนเตียนมันสมราคาจริง ๆ แต่ถ้าใครต้องการทุบหุ้นไม่ให้เหลือซาก ก็ลองหันมาใช้บริการของ “เสี่ย อ.” ก็จะได้ลิ้มรส “ฝีปาก ฝีมือ” ของชายคนนี้ เด็ดสะระตี่ขนาดไหน? ถ้าไม่เชื่อก็ลองถามบรรดาขาใหญ่ที่พลอยซวยกันเป็นพรวนดูสิคะ

ว่ากันว่าปฐมบทของเสี่ยรับทุบตึกมีการวางแผนเป็นปี และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทมีมติเพิ่มทุน 560 ล้านหุ้น ซึ่งแบ่งเป็นการเพิ่มทุน RO จำนวน 280 ล้านหุ้น ในสัดส่วน 1:1 ในราคาหุ้นละ 1 บาท (ราคาในกระดาน 4.64 บาท) และหุ้นเพิ่มทุนที่เหลืออีก 280 ล้านหุ้น เป็นการออกไว้รองรับวอร์แรนต์ที่แจกให้ฟรี ซึ่งมีสัดส่วนการแปลงอยู่ที่ 1:1 ในราคาหุ้นละ 3 บาท โดยมีอายุ 3 ปีนะจ๊ะ

สถานการณ์ช่วงนั้นก็เดินมาเรื่อย ๆ เหมือนบริษัททั่วไป เพราะบริษัทยังเสาะหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตในเวลาอันรวดเร็ว ไล่ตั้งแต่สมัยแรกที่ทำธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ ถัดมาเป็นธุรกิจสื่อโฆษณา และขยับมาเป็นสติกเกอร์บนอุปกรณ์ไฟฟ้า ต่อจากนั้นก็มาทำแพลตฟอร์มอีสปอร์ต พร้อมกับเกาะกระแสเรื่องบล็อกเชน ก่อนจะมาลงตัวที่ธุรกิจพลังงาน (Climate Change) ซึ่งได้ประกาศตัวไปก่อนหน้านี้เจ้าค่ะ

ที่น่าสนใจก็คือในช่วงที่บริษัทหันหัวเรือมายังธุรกิจ Climate Change ก็มีการประกาศเพิ่มทุน PP ในราคาหุ้นละ 16 บาท จำนวน 50 ล้านหุ้นขายให้กับรายใหญ่ 4 ราย คือ 1.CAPITAL ASIA INVESTMENT จำนวนหุ้น 20 ล้านหุ้น ส่วนรายที่ 2.นายยศวีย์ วัฒนธีระกิจจา จำนวนหุ้น 20 ล้านหุ้น  รายที่ 3.นายนพพร วิฑูรชาติ จำนวน 5 ล้านหุ้น และรายที่ 4.นางสาวรฐา วีรพงษ์ จำนวน 5 ล้านหุ้น พร้อมกับกำหนดวันจองซื้อและชำระค่าหุ้น  27-28 มิ.ย. 66 นะจะบอกให้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การปรากฏชื่อรายใหญ่ลำดับที่ 1 ทำให้หลายคนขนพองสยองเกล้ากันเป็นแถว หลังแมงลือเม้าท์กันสนั่นหวั่นไหวว่า บ.บีเว่อร์ เป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว และชอบลงทุนในของร้อน ๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีชื่ออยู่ใน UPA ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อหุ้นเป็น GTV และถ้าย้อนกลับไปในปี 63 จะเห็นว่า บริษัทนี้เป็นคนที่เข้าไปซื้อ PP ในสมัยที่ BCPG ประกาศเพิ่มทุนเพื่อลุยไฟฟ้าเต็มตัวนะตัวเอง

ข้อมูลข้างต้นทำให้สงสัยว่า การมาของ “บัณฑิต สะเพียรชัย” ก่อนหน้านี้ มันเป็นแรงดึงดูดให้กองทุนดังกล่าวตามมาลงทุนด้วยใช่ไหม?  แต่ในสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังเท้าแบบนี้ ยังทำให้ดีลดังกล่าวเดินหน้าไหม? เพราะการที่หุ้นลงมาทำฟลอร์วันที่สี่ (เกี่ยวกับการแปลงวอร์แรนต์สองร้อยกว่าล้านหุ้น) ด้วยการยืนปิดที่ระดับ 3.84 บาท ลบไป 1.66 บาท หรือลงไป 30.20% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 522 ล้านบาท มันทำให้เจ๊งตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้วนะคะ

เฮ้อ..น่าเสียดายพื้นที่หมดลงเสียก่อน “โมนิก้า” เลยไม่มีพื้นที่เม้าท์ถึงรายละเอียดอื่น ๆ ที่พวกขาใหญ่โดนกันมาเป็นแถว และคนเหล่านั้นกำลังไลน์หากันให้ควั่ก รวมทั้งเดี๊ยนไม่มีโอกาสที่จะเม้าท์ถึงหุ้นในเครือข่ายอย่าง SIMAT กับ W จึงขอยกยอดไปวันหน้าดีกว่า เพราะเวลานี้ได้ข่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดอาการก้นร้อนจนนั่งไม่ติดกันเป็นแถว..ส่วนเรื่องดังกล่าวจะจริงเท็จอย่างไร? ก็ต้องดูกันต่อไป..เพราะสงครามยังไม่จบ ก็อย่าเพิ่งนับศพทหารนะตัวเอง!

Back to top button