พาราสาวะถี

ถือเป็นทางลงที่ถูกต้อง สวยงามหรือเปล่า แล้วแต่ว่าใครจะมอง หากเป็นกองเชียร์ฝ่ายประชาธิปไตย บนความหวังตั้งรัฐบาลของตัวเองสำเร็จ


ถือเป็นทางลงที่ถูกต้อง สวยงามหรือเปล่า แล้วแต่ว่าใครจะมอง หากเป็นกองเชียร์ฝ่ายประชาธิปไตย บนความหวังตั้งรัฐบาลของตัวเองสำเร็จ ย่อมเห็นว่าการเสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย เพื่อผ่าทางตันความขัดแย้งกับก้าวไกลถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หากคนที่เสนอชื่อยอมรับก็เท่ากับว่าเป็นการเสียสละเพื่อให้การจับมือกันของ 8 พรรคร่วมสามารถเดินต่อไปให้ถึงที่หมาย

การได้ข้อยุติเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ เป็นเพียงแค่การสยบแรงกระเพื่อมของสองพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลที่ถูกมัดด้วยฉันทามติของประชาชนเท่านั้น ปลายทางว่าด้วยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะก้าวไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ 64 เสียงที่จะมาจาก ส.ส.ต่างฝ่าย หรือ ส.ว.ลากตั้งยังเป็นเครื่องหมายคำถาม  เช่นเดียวกันกับชะตากรรมของว่าที่นายกฯ คนที่ 30 จากปมถือหุ้นไอทีวี รวมไปถึงการแก้ไขมาตรา 112 ที่ถูกมัดรวมเอาผิดยุบพรรคร่วมกับก้าวไกล

หากสถานการณ์เดินทางไปถึงจุดที่พิธาได้รับเสียงโหวตไม่เพียงพอจะเป็นนายกฯ ต้องมองกันต่อไปว่า ก้าวไกลจะแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยก้าวขึ้นไปเป็นตัวเลือกแทนภายใต้เสียงหนุนของ 8 พรรคเดิมหรือไม่ หรือจะหันไปใช้วิธีมวลชนที่สนับสนุนเคลื่อนไหวกดดัน ซึ่งหากเลือกแนวทางเช่นนั้น ทุกอย่างก็จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งรวมไปถึงว่าโอกาสที่จะได้รัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้นจะหมดไปด้วยหรือไม่

โจทย์ทางการเมืองที่ซับซ้อนภายใต้กลไกกับดักที่วางไว้ของขบวนการสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างจึงต้องใช้ความรอบคอบ รัดกุม ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องสุมหัวกันวิเคราะห์สถานการณ์ให้ตกผลึก แตกฉาน ในเมื่อเป้าหมายหลักคือตั้งรัฐบาลปิดสวิตช์เผด็จการสืบทอดอำนาจและ ส.ว.ลากตั้ง ก็ต้องยึดมั่นหลักการนั้นร่วมกัน ตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้สำเร็จ ไม่เพียงแค่แกนนำของทุกพรรคที่จะต้องคุยกันให้จบเท่านั้น แต่หมายถึงแนวร่วมก็ต้องเคลียร์กันให้เข้าใจ ต้องไม่มีความแตกแยก หรือคนใด กลุ่มไหนเดินแตกแถวเป็นอันขาด

ความจริงประเด็นที่ว่าเพื่อไทยกดดันก้าวไกลมากเกินไป เห็นแก่ได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าเสียงที่ห่างกันเพียง 10 ที่นั่งของ ส.ส.นั้น สูตรการจับมือคือ 14+1 แต่พรรคอันดับหนึ่งกลับจะขอเพิ่มมันจึงเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ เหมือนที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยสะกิดเตือนว่า กติกาโคตรเอาเปรียบ ฝ่ายตรงข้ามซุ่มโจมตีตามรายทาง แนวปฏิบัติที่เหมาะควรทั้งหลายถูกทำให้บิดเบี้ยว ถ้าตรงไปตรงมาเพื่อไทยเป็นรัฐบาลตั้งแต่ครั้งที่แล้ว แต่สุดท้ายเป็นฝ่ายค้าน 

ฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะกองเชียร์ด้อมส้มทั้งหลาย ต้องย้อนกลับไปยังกระบวนการเลือกนายกฯ หนที่แล้ว อนาคตใหม่พรรคอันดับ 3 ขอให้เพื่อไทยพรรคอันดับ 1 โหวตให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ ซึ่งทั่วไปไม่มีใครทำ แต่เพื่อไทยก็ตกลง เพื่อรักษาความเข้มแข็งของแนวร่วมฝ่ายค้าน สู้กับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ และอนาคตใหม่ก็ทำหน้าที่ได้ดี การตัดสินใจและก้าวเดินทางการเมืองในสภาพการณ์ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องใช้ทั้งปัญญา ความมุ่งมั่น อดทนอดกลั้น เสียสละ และหลักวิธีการที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ปัญหาของเก้าอี้ประธานสภาฯ อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ความอยากได้ของสองพรรคแกนนำนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน พรรคอันดับ 1 ต้องการเพื่อที่จะการันตีสร้างความมั่นใจต่อกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ นั่นประการหนึ่ง ประการสำคัญคือ ใช้เก้าอี้ประธานสภาฯ เพื่อจะสามารถผลักดันการบรรจุวาระการประชุมในส่วนข้อกฎหมายซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรค โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112 แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวคนที่เป็นประธานไม่สามารถทำตามใจชอบได้ แต่อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าจะได้รับการบรรจุ ไม่ใช่ดึงเรื่องไว้จนถูกตีตกเหมือนสภาชุดที่ผ่านมา

จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยมองเห็น จึงพยายามจนถูกทัวร์ลงยับเพื่อที่จะขอเก้าอี้ดังกล่าวไว้โดยอ้างว่าเมื่ออีกฝ่ายได้เป็นผู้นำฝ่ายบริหารไปแล้ว พรรคอันดับสองก็ควรได้เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งที่ความจริงคือเป็นการสกัด ป้องกันปัญหาที่อาจจะนำพารัฐบาลไปสู่จุดจบหากมีการผลักดันกฎหมายดังว่า ต้องอย่าลืมว่าพรรคนายใหญ่มีบทเรียนอันเจ็บปวดมาแล้วกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย แม้ว่าจะใส่เกียร์ถอย ทำทุกทาง แต่เมื่อมีการปลุกม็อบมาแล้วทุกอย่างมันก็ไปไกลจนนำพาประเทศมาถึงจุดที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

การเสนอชื่อวันนอร์โดยชูความเป็นคนกลาง ความเป็นกลางมาเป็นทางเลือกแบบนี้ ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่าเพื่อไทยคิดอย่างไรต่อเก้าอี้ประธานสภาฯ แน่นอนว่า แม้หัวหน้าพรรคประชาชาติจะปฏิเสธเก้าอี้รองประธานสภาฯ ไปก่อนหน้า แต่ด้วยเหตุจำเป็นเช่นนี้และเชื่อว่าพรรคร่วมที่เหลือซึ่งไม่ใช่ก้าวไกลก็น่าจะพอใจต่อทางออกเช่นนี้เช่นกัน และการที่จะคนของพรรคอันดับ 1 และ 2 จะได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งและสองไปก็ถือว่าสมประโยชน์กันทุกฝ่าย

ต้องไม่ลืมเป็นอันขาด งานใหญ่สำหรับ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่เก้าอี้ประธานสภาฯ เมื่อมีแนวร่วมที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งมีเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียงเป็นแบ็คหนุนแล้ว ควรจะใช้จุดแข็งนี้ไปแสวงหาแนวร่วมด้านอื่นเพื่อเดินหน้าให้กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ไม่เกิดการสะดุด ไม่ว่าจะเป็นพิธาหรือต้องเปลี่ยนตัวก็ตาม รอดูการโหวตเลือกประธานสภาฯ วันนี้ กับเสียงหนุนที่จะออกมามีนอกเหนือ 312 เสียงหรือไม่ ถ้าเกินไป 30-40 เสียง ก็จะทำให้เห็นสัญญาณของการตั้งรัฐบาลหลังจากนี้ได้ชัดขึ้น

จะว่าไปหากมองถึงความผิดพลาดที่ก้าวไกลทำลงไปต่อเก้าอี้ประธานสภาฯ คือ การเปิดตัวดัน ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นผู้ชิงตำแหน่ง ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติของคณะเจรจาสองพรรค จะเรียกว่า “เสียมารยาท” ก็ว่าได้ อยู่ที่ว่าจะยอมรับหรือไม่ เมื่อทุกอย่างมาถึงจุดนี้แล้วน่าจะต้องเป็นไปอย่างที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยให้ความเห็น นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทย จึงอยากวิงวอนว่าแม้ผลจะออกมาเช่นไรก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมกันบ้าง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

Back to top button