3 หุ้นบันเทิง เปิดสงครามเพลง.!?

จากกระแส Y2K ที่กลับมาฮอตฮิต โดยเฉพาะกระแสเพลงดังในยุค 90 ทำให้การจัดคอนเสิร์ตศิลปินยุคเก่าที่มารวมตัวกัน หรือที่เรียกว่า “คอนเสิร์ตรียูเนียน” ได้รับความนิยมอีกครั้ง


จากกระแส Y2K (กระแสย้อนยุคช่วงก้าวข้ามผ่านระหว่างปี 1990-2000) ที่กลับมาฮอตฮิตและกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกระแสเพลงดังในยุค 90 และ 2000…ทำให้การจัดคอนเสิร์ตศิลปินยุคเก่าที่มารวมตัวกันแบบเฉพาะกิจ หรือที่เรียกว่า “คอนเสิร์ตรียูเนียน” ได้รับความนิยมอีกครั้ง…

ขนาดที่ว่าเจ้าใหญ่อย่างบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ของ “เฮียฮ้อ”-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ของ “อากู๋”-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ถึงขั้นต้องมาเกี่ยวก้อยกันจัดตั้งกิจการร่วมค้า อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส (ACROSS THE UNIVERSE JOINT VENTURE) เพื่อขนเหล่าศิลปินในยุค 90 และ 2000 ของทั้ง 2 ค่าย มาร่วมขึ้นคอนเสิร์ตในช่วง 3 ปีนี้ (2566-2568) โดยจะจัดปีละ 3 คอนเสิร์ต ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

ที่มากไปกว่านั้น ดูเหมือนธุรกิจเพลงจะเริ่มขยับอีกครั้ง ทำให้ตอนนี้กลายเป็นสงครามเก่าในสมรภูมิใหม่ ซึ่งไม่ได้แข่งขันกันแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่เริ่มรุกคืบออกไปตลาดต่างประเทศด้วย

เห็นได้ชัด ก่อนหน้านี้การมาของ “ขันเงิน เนื้อนวล” แรปเปอร์ชื่อดัง ที่มาเซ้งหุ้นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC ต่อจากบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่… (ส่วนที่เมาท์มอยกันว่า เป็นแค่ตัวหลอกไม่ใช่ตัวจริงนั้น ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ)

แต่การมาของ “ขันเงิน” มาพร้อมสตอรี่ขายฝันที่ว่า จะปลุกปั้น MPIC ให้เป็นบริษัทบันเทิงที่มีความหลากหลาย โดยอาศัยคอนเน็กชันที่มีเพื่อผลักดันศิลปินไทยให้ไปเติบโตนอกประเทศ รวมทั้งต่อยอดไปสู่การจัดงาน Event และคอนเสิร์ต ทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศ

ด้าน RS ก็ขยับไปจับไม้จับมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป หรือ UMG ซึ่งเป็นบริษัทดนตรีรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้นำในตลาดเพลง จัดตั้งกิจการร่วมค้า โดย RS จะถือหุ้นผ่านบริษัทลูกที่ชื่อ อาร์เอส มิวสิค ในสัดส่วน 30% ส่วนทางยูนิเวอร์ แซล มิวสิค ถือหุ้นในสัดส่วน 70%

กิจการร่วมค้าดังกล่าว จะทำหน้าที่บริหารจัดการสิทธิ์ของแค็ตตาล็อกเพลงกว่า 10,000 เพลง (ตั้งแต่ปี 2524-2565) รวมถึงคอนเทนต์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ มิวสิควิดีโอ เนื้อเพลงและบทประพันธ์ รูปภาพและภาพถ่ายต่าง ๆ รวมถึงสิทธิภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์

ส่วนการจับมือกับ ยูนิเวอร์ แซล มิวสิค จะช่วยผลักดันให้รายได้ของอาร์เอส มิวสิค บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ 700 ล้านบาท ได้หรือเปล่า..? เป็นช็อตที่ต้องติดตามกันต่อไป

ฟาก GRAMMY ก็นั่งไม่ติด ล่าสุดได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง ด้วยการยกสถานะสายงานธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ขึ้นเป็นบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด อย่างเต็มตัว ด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท เพื่อลุยธุรกิจด้านบันเทิงเต็มสูบ ไม่ว่าจะเป็น จำหน่ายเพลงผ่านโสตทัศนวัสดุและวีดีทัศน์ทุกประเภท บริการเพลงผ่านสื่อทุกประเภท จัดการลิขสิทธิ์ จัดคอนเสิร์ต บริการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และบริหารศิลปิน…

ดูจากตรงนี้ แต่ละบริษัทเอาจริงเอาจังนะเนี่ย..!!

ก็น่าติดตามสงครามเพลงต่อจากนี้คงฟาดกันหลายกระบวนเพลง…

ส่วนใครจะชนะหรือพลาดพลั้งในสงครามนี้…ต้องดูกันต่อไป

แต่ว่ากันว่าสงครามยังไม่จบ…อย่าเพิ่งนับศพทหารนะ..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button