ทางสามแพร่งค่าไฟ (อีกครั้ง)

ปลายเดือนนี้เป็นที่ชัดเจนว่าค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) จะปรับลดลงเหลือเท่าไหร่ หลังสถานการณ์วิกฤติราคา LNG เริ่มผ่อนคลายลง


ปลายเดือนนี้เป็นที่ชัดเจนว่าค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) จะปรับลดลงเหลือเท่าไหร่ หลังสถานการณ์วิกฤติราคา LNG เริ่มผ่อนคลายลง และกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) พร้อมให้กกพ.นำค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อรับฟังความคิดเห็น 3 กรณีด้วยกัน

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการสะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินที่กฟผ.กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 64-เม.ย. 66 คิดเป็นเงิน 135,297 ล้านบาทเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย

“ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย”

กรณีที่ 2 (ตรึงค่า Ft เท่ากับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66) ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วยและทยอยชำระเงินที่ กฟผ.กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 64-เม.ย. 66 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น คาดสิ้นเดือน ธ.ค. 66 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย

“ทำให้ค่าไฟฟ้าคงเดิม 4.70 บาทต่อหน่วย” 

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 5 งวด) ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่กฟผ.กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 64-เม.ย. 66 แบ่งเป็น 5 งวด ๆ ละ 23,428 ล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือน ธ.ค. 66 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้กฟผ. 111,869 ล้านบาท

“ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย”

มีการประเมินจากกกพ.ว่าค่า Ft งวดใหม่ จะอยู่ช่วงขาลงตามราคาเชื้อเพลิง โดยราคา LNG ในตลาดโลกแกว่งตัวระดับต่ำ ทำให้การนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนก๊าซทางท่อ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายลดลง แต่มีภาระที่กฟผ.ต้องแบกรับจากภาระต้นทุนราคา LNG ในช่วงวิกฤติพลังงาน

ปัจจุบันหนี้สะสมอยู่ที่ 135,000 ล้านบาทที่ต้องทยอยจ่ายคืน ขณะที่ตัวเลขที่เอกชนบางรายเสนอมาที่ระดับ 4.25 บาทต่อหน่วยนั้น ต้องดูว่าจะมีนโยบายจากภาครัฐอย่างไร เพราะหากคำนวณต้นทุนเนื้อค่าไฟอยู่ระดับ 4.06 บาทต่อหน่วย

ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูว่า กฟผ.จะดำเนินการอย่างไร เพราะหากกฟผ.ได้รับการคืนหนี้บ้าง จะนำเงินดังกล่าวมาใช้เพื่อขยายธุรกิจได้

ส่วนราคา Spot LNG ที่ปรับลดลงรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อค่าประมาณการค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 แม้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยทยอยปรับเพิ่มขึ้นโดยแหล่งเอราวัณผลิตเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ต้องจับตาดูจนถึงสิ้นเดือนนี้ว่า…ตัวเลขจะเป็นไปตามแผนหรือไม่..!?

ขณะเดียวกันมีความไม่แน่นอนจากแหล่งก๊าซฯ เมียนมา ผนวกความต้องการใช้ก๊าซฯ ภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งให้ภาคไฟฟ้ามีจำนวนจำกัด

เอาล่ะ..ไม่เกินเดือนนี้คงจะได้รู้กันละว่ากกพ.จะเลือกทางไหน..แต่เชื่อหัวไอ้เรืองได้เลยว่า..ค่าไฟฟ้างวดใหม่ต่ำกว่า 4.70 บาทต่อหน่วยแน่นอน..!!

Back to top button