KBANK แตกหน่อ..กอเดิม.!?

แว๊บแรกรู้สึกต๊กกะใจ...!! ที่เห็นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK แจ้งข่าวการลาออกของ 2 ผู้บริหารระดับสูง


แว๊บแรกรู้สึกต๊กกะใจ…!! ที่เห็นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK แจ้งข่าวการลาออกของ 2 ผู้บริหารระดับสูง นั่นคือ “พัชร สมะลาภา” และ “กฤษณ์ จิตต์แจ้ง” จากตำแหน่งกรรมการ (มีอำนาจลงนามผูกพัน) และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของธนาคาร รวมถึงตำแหน่งอื่น ๆ ในธนาคารและบริษัทย่อย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป…

สงสัยไปเจอพิษสงจากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK อ๊ะป่าว..? ที่ทำให้เอ็มดีต้องลาออกพร้อมกัน 2 คน..!!

จากกรณี KBANK ได้ปล่อยกู้ STARK วงเงินราว 5,000 ล้านบาท จนนำมาสู่การตั้งสำรองหนี้เสียฯ ก้อนโต ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุชัดว่าการตั้งสำรองหนี้เสียฯ ดังกล่าวมาจาก STARK โดยระบุแค่ว่า “เป็นลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอย” แต่ทุกคนก็พอคาดเดาได้แหละ…

สุดท้ายไม่ใช่ STARK เอฟเฟกต์แฮะ..!? เพราะเมื่ออ่านย่อหน้าถัดมา แจ้งว่า “พัชร” จะไปรับตำแหน่งใหม่ Group Chairman บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV บริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคาร ส่วน “กฤษณ์” จะไปนั่งประธานคณะที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป

โล่งออกไปที…คิดว่า 2 ลูกหม้อแบงก์กสิกรไทย จะเสียท่า STARK เสียแล้ว…

ส่วนสาเหตุที่ 2 เอ็มอีต้องลาออกนั้น…ที่แท้เป็นแค่การปรับโครงสร้างการบริหารของกลุ่มกสิกรนั่นเอง…

จากการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร ก็นำมาสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มกสิกรใหม่ โดยใช้ “กสิกร อินเวสเจอร์” ซึ่งจัดตั้งช่วงปลายปีที่แล้ว (4 ต.ค. 2565) ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในธุรกิจไฟแนนซ์

โดย KBANK ยังถือหุ้น “กสิกร อินเวสเจอร์” 100%…เท่ากับว่า เป็นการ “แตกหน่อ”…แต่ “กอเดิม” น่ะสิ..!?

ปัจจุบัน “กสิกร อินเวสเจอร์” มี 14 บริษัทที่อยู่ภายใต้สังกัด ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท เช่น บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด, บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด, บริษัท เงินให้ใจ จำกัด, บริษัท คาร์ฮีโร่ จำกัด, บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KBao), บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด และบริษัท แคปเชอร์วัน จำกัด เป็นต้น

โดยปี 2566 ตั้งเป้าหมายจะมีกำไรสุทธิราว 900-1,100 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 40,000-45,000 ล้านบาท มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 25,000-30,000 ล้านบาท และภายในปี 2569 ตั้งเป้ามีกำไรสุทธิ 4,500-5,000 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 75,000-80,000 ล้านบาท มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในการลงทุน 65,000-70,000 ล้านบาท

ก็ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ส่วนจะทำได้หรือเปล่า..? ต้องติดตามตอนต่อไป…

แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากมัดห่อธุรกิจในกลุ่มไฟแนนซ์ และสินเชื่อรายย่อยมาอยู่ภายใต้ “กสิกร อินเวสเจอร์” แล้ว…อันดับแรก จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ด้วยกระแสการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่าน ก็ต้องอาศัยความคล่องตัว ถึงจะยืนหยัดในสนามที่มีคู่แข่งเขี้ยวลากดินได้…จริงมั้ย

ถัดมา ช่วยปลดล็อกเงื่อนไขของแบงก์ชาติ เนื่องจากบางธุรกิจอาจติดเงื่อนไขของแบงก์ชาติ เมื่อโยกออกมาอยู่ภายใต้ “กสิกร อินเวสเจอร์” ก็ช่วยปลดเปลื้องพันธนาการ ทำให้บางธุรกิจมีโอกาสเฉิดฉายได้มากขึ้น…

ซึ่งไม่แน่เป้าหมายต่อไปของ KBANK อาจสปินออฟ “กสิกร อินเวสเจอร์” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้นะ…ใครจะไปรู้

แต่จะว่าไป โมเดลนี้ก็มีความเหมือนในความต่างกับบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB นะ..โดยแบงก์สีม่วง ตั้งยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” ขึ้นมาถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ ในเครือ รวมถึงธุรกิจแบงก์ โดย “เอสซีบี เอกซ์” จะทำหน้าที่หาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งไฟแนนซ์ และฟินเทค ส่วนแบงก์ไทยพาณิชย์ก็ยังเป็นแบงก์ดั้งเดิมต่อไป

ฟากแบงก์สีเขียว จะใช้บริษัทลูก “กสิกร อินเวสเจอร์” ซึ่งเป็นโฮลดิ้งไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในขณะที่ตัวธนาคารกสิกรไทยก็ยังทำธุรกิจแบงก์

ซึ่งถ้าถามว่าโมเดลไหนจะซัคเซสกว่ากัน..? คงตอบยาก

แต่ที่พอตอบได้ ดูเหมือนทั้ง 2 แบงก์ใจตรงกันในเรื่องต้องการปลดแอกจากกฎเกณฑ์แบงก์ชาตินะ..!?

หรือใครจะเถียง..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button