SPA พร้อมกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง!

SPA เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน


เส้นทางนักลงทุน

บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป หรือ SPA เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งโดยภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

นับตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย ราคาหุ้น SPA ในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดได้ที่ 13.50 บาท ขณะที่มีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 9.75 บาท ที่น่าสนใจคือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 11,029.50 ล้านบาท (ณ 29 กันยายน 2566) จากสิ้นปี 2565 มีมูลค่า 10,089.00 ล้านบาท และสิ้นปี 2564 มีมูลค่า 5,771.25 ล้านบาท

SPA จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ดำเนินธุรกิจด้านสปาเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสปา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจสปา ภายใต้แบรนด์ Let’s Relax, แบรนด์ “RarinJinda Wellness Spa, แบรนด์บ้านสวนมาสสาจ, แบรนด์ Stretch me by Let’s Relax และแบรนด์ Dr.Spiller Pure Skin Care Solutions

2.ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในนาม โรงแรม ระรินจินดา เวลเนส สปา รีสอร์ท เป็นโรงแรมสไตล์บูติก ที่จังหวัดเชียงใหม่ และรับบริหาร ระริน วิลล่าส์ เชียงใหม่ และร้านอาหารภายใต้ชื่อ Deck 1 และรับบริหารร้าน ORB Cafe & Bar ที่จังหวัดเชียงใหม่และเมืองพัทยา

3.ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปาภายใต้แบรนด์ LRL (Let’s Relax Lifestyle) และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปานำเข้าจากต่างประเทศ Dr.Spiller, Biomimetic Skin Care Solutions

4.กิจการโรงเรียนเกี่ยวกับการนวดแผนไทยในนาม “โรงเรียนสอนนวดไทยและสปาสยามเวลเนส” เพื่อให้การอบรมบริการนวดและสปาแก่พนักงานเทอราพิสต์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัท

ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ SPA มีจำนวนสาขาทั้งหมด 67 สาขา แบ่งเป็น 62 สาขาในประเทศ และ 5 สาขาในต่างประเทศ ช่วงระหว่างนี้มีการเปิดเพิ่ม 7 สาขา และมีปิดจำนวน 6 สาขา

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ วิเคราะห์ความแข็งแกร่งของ SPA ผ่านผลประกอบการว่า ไตรมาส 3 ปี 2566 นี้ จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากอัตราพนักงานเพิ่มขึ้นจาก 80% ในครึ่งแรกของปีนี้ เป็นประมาณ 80-85% แม้ว่าจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น (low season) โดยมีพนักงานประมาณ 1,140 คน เทียบกับ 1,200 คน ในช่วงก่อนโควิด และ 1,080 คน ในไตรมาส 2 ทำให้รายได้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น 4.7% จากไตรมาสก่อน เป็น 373 ล้านบาท ซึ่งโมเมนตัมผลประกอบการแข็งแกร่งนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567

แต่ก็มีตัวเร่ง EPS ที่จำกัดตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จากผลกระทบของฐานที่ต่ำหายไป และกำลังการผลิตใกล้เต็มกำลังที่ 85-90% สิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าคือศักยภาพในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และการมองเห็นการเติบโตที่มากขึ้นจากกลุ่ม Sleep Lab

ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ตะวันออกกลาง อินเดีย และยุโรป เครือข่ายสาขาจะเพิ่มมาอยู่ที่ 68 แห่ง หรือเพิ่มอีก 2 แห่ง ในส่วนของ Let’s Relax Radisson Blu และ Silom Edge แต่ก็ปิด 2 แห่ง คือ Let’s Relax Noku Chalong Phuket และ Dr.Spiller Pattaya

อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 29.8% เทียบกับ 29.3% ในไตรมาส 2 โดยค่าใช้จ่าย (OPEX) ยังคงอยู่ที่ 10.3% ของยอดขาย อัตรากำไรก่อนภาษี (EBIT Margin) คาดเพิ่มขึ้นเป็น 20.4% จาก 19.4% เช่นกัน

ผลประกอบการ SPA จะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 4 ปีนี้ แรงหนุนจากช่วง peak season, การเพิ่มสาขาใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ Let’s Relax Courtyard by Marriott สุวรรณภูมิ และแกรนด์เซ็นเตอร์พอยต์ สุรวงศ์ และจำนวนพนักงานนวดที่ฟื้นตัว 1,200 คน ระดับสูงสุดที่เห็นก่อนยุคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการเติบโตใหม่สำหรับ EPS ปี 2568 และต่อ ๆ ไป นอกเหนือจากแผนการขยายสาขาที่ 3-5 สาขาต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตมีแนวโน้มที่จะถูกใช้อย่างเต็มที่ในปี 2567 ส่วนกลุ่ม Sleep Lab ยังคงมองหาตลาดผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ชี้ว่าในที่สุดการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศก็ดูมีความจำเป็นแต่ก็มีความท้าทาย และให้คำแนะนำ “ซื้อ” SPA โดยให้มูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 14.90 บาท

หากอ้างอิงมุมมองของผู้บริหารบริษัท ที่ระบุว่า ได้ก้าวข้ามผ่านจุดที่มีความเสี่ยงที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นั่นคือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์ประเทศจีนแล้ว ถือว่า SPA พร้อมที่จะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

Back to top button