‘ชอร์ตเซล’ กับเรื่องหลอกตัวเอง.!?

ถือเป็นสองแรงแข็งขันทั้งหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. และหน่วยงานเสริมส่งสนับสนุนการลงทุนอย่าง ตลท. ที่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงว่าธุรกรรม “ขายชอร์ต” ไม่ได้เป็นตัวการที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งมากที่สุดในโลก


ถือเป็นสองแรงแข็งขันทั้งหน่วยงานกำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานเสริมส่งสนับสนุนการลงทุน (โปรโมเตอร์) อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงว่าธุรกรรม “ขายชอร์ต” (Short Sell) ไม่ได้เป็นตัวการหรือว่าเป็นตัวซ้ำเติมที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งมากที่สุดในโลก

โดย “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการก.ล.ต.ระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการห้าม Short Sell (ขายชอร์ต) เนื่องจากยังไม่เห็นว่าการห้าม Short Sell จะเป็นผลบวกมากกว่าผลลบต่อตลาดและปริมาณการขายชอร์ตไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีสัดส่วนเพียง 5.6% มูลค่าซื้อขายทั้งหมดและจากการติดตามการขายชอร์ตขณะนี้ยังไม่พบข้อผิดปกติแต่อย่างใด

“การทำ Short Sell นั้นไม่ได้มีผลกระทบให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงหรือเป็นการทุบหุ้นหากห้ามการทำธุรกรรมขายชอร์ต เสมือนเป็นการอั้นกลไกของราคาตลาด”

โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศส่วนใหญ่หรือกลุ่มกลางที่เปิดให้ทำชอร์ตเซลแบบมีเงื่อนไข โดยมีเกณฑ์ให้ทำในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุดและห้ามการทำ Naked Short ไม่ว่าจะโปรแกรมเทรดดิ้งหรือซื้อขายปกติ ต้องมีหุ้นก่อนหรือยืมหุ้นมาก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดส่งมอบ และด้วยกลไกที่มีอยู่ทำให้มั่นใจว่าสามารถห้ามได้และเอาผิดได้

“สรุปให้ความมั่นใจห้ามฟันด์โฟลว์ต่าง ๆ ไม่ได้ แต่ไม่อยากให้ฟันด์โฟลว์มาจาก sentiment ที่ไม่เหมาะสม เช่น ลือกันไป หรือสร้างกรอบแนวคิดว่ามีเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ในตลาดทุนไทย ไม่อยากให้มีการชักจูงความคิด การบอกว่า Short Sell ทำให้ราคาโดนทุบลงมีหลักฐานอะไรมา Support บอกว่าฝรั่งใช้ Algorithm มาทุบตลาดเรามีข้อมูลอะไร”

นี่คือ…บทสรุปของเรกูเลเตอร์…!!???

เช่นเดียวกับ “ภากร ปีตธวัชชัย” ผู้จัดการตลาดฯ ระบุว่าสัดส่วนปริมาณธุรกรรม Short Sell ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงที่ผ่านมาแต่ด้วยปริมาณซื้อขายของตลาดปรับตัวลดลงส่งผลให้สัดส่วน Short Sell เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกรรมที่เกิดจากการ Short Sell ที่เกิดจากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีส่วนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมากเท่าที่ควรแต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการทำธุรกรรมจากบุคคลบางกลุ่มที่ทำ Short Sell และมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง

“มูลค่าการซื้อขายที่ลดลง 30% ช่วงนี้อาจทำให้ปริมาณ Short Sell เหมือนจะเพิ่มขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ต่างจากเดิมมากนัก”

ส่วนประเด็น High Frequency Trading (HFT) ที่เป็น Algorithm Trading มีสัดส่วนเพียง 10% ของวอลุ่มการซื้อขายและมีกลุ่มที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งประเภท Non-HFT ที่ไม่ได้ใช้ความเร็วประมาณ 24% ที่เหลือไม่ได้ใช้โปรแกรมอัตโนมัติ แต่ใช้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ประมาณ 16% จึงอย่าไปมองว่านักลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติด้วยความเร็วทำให้ตลาดหุ้นตก เพราะเพียงสัดส่วน 10% จะมา push ตลาดได้อย่างไร

นอกจากนี้กลุ่ม HFT และ Non-HFT ส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์การเลือกสรรหุ้นโฟกัสในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงกลุ่ม SET50 หรือ SET 100 ไม่ได้สนใจซื้อหุ้นเล็ก แต่คนที่เข้ามาลงทุนหุ้นเล็กส่วนใหญ่คือนักลงทุนรายย่อยรวมทั้งเมื่อมีการขายหุ้นออกมาทั้งตลาด นักลงทุนทุกกลุ่มก็ขายเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ HFT หรือโปรแกรมเทรดดิ้ง

“ยิ่งไปกว่านั้น HFT ไม่ได้เป็นการขาย ส่วนมีใครเอา HFT มาทำ Short Sell หรือไม่ เราตามข้อมูลเป็นตัว ๆ ไม่ใช่แบบนั้น แต่ sentiment ไม่ได้ ฟันด์โฟลว์ไหลออก อย่าไปหาแม่มดเลย มีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น”

นี่คือ…บทสรุปของโปรโมเตอร์..!!??

ด้วยสรุปแบบโลกที่สวยหรู..หุ้นดิ่งแบบนี้ไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติส่วนธุรกรรม Short Sell เป็นเรื่องชิล ๆ ที่ทำกันอยู่แล้ว “ไม่เป็นตัวการทำหุ้นไทยดิ่ง” ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรที่จะไปยับยั้ง ประเดี๋ยวจะเป็นการไปอั้นกลไกของราคาตลาดเอาได้

แต่ข้อมูลการทำ Short Sell รอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงมันดูย้อนแย้งกับสิ่งที่ก.ล.ต.และตลาดฯ กล่าวอ้างเพราะมีตัวเลขการทำ Short Sell ที่สูงจนดูน่าเป็นห่วงและไม่มากก็น้อยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยไม่สามารถก้าวข้ามผ่านระดับ 1,400 จุดไปได้เลย

เริ่มจากหุ้น PTT มูลค่าการขายชอร์ต 9,412.30 ล้านบาท หรือ 11.10%, หุ้น AOT มูลค่าการขายชอร์ต 5,643.62 ล้านบาท หรือ 9.16% และ AOT-R มูลค่าการขายชอร์ต 5,317.17 ล้านบาท หรือ 8.63%, หุ้น KBANK มูลค่าการขายชอร์ต 3,629.81 ล้านบาท หรือ 4.90% และ KBANK-R มูลค่าการขายชอร์ต 4,631.65 ล้านบาท  หรือ 6.25%

ขณะที่ GULF-R มูลค่าการขายชอร์ต 3,565.08 ล้านบาท หรือ 10.23%, CRC-R มูลค่าการขายชอร์ต 3,100.80 ล้านบาท หรือ 12.90%, SSC-R มูลค่าการขายชอร์ต 2,864.38 ล้านบาท หรือ 10.87% และหุ้น MINT มูลค่าการขายชอร์ต2,268.55 ล้านบาท หรือ 11.23%

ส่วนสภาพราคาหุ้นเหล่านี้เป็นเช่นไร..คงไม่ต้องให้มานั่งสาธยายหรือขยายความใด ๆ เพราะตัวเลขมันไม่เคยหลอกใคร เพียงแต่เราจะหลอกตัวเองกันไปวัน ๆ เท่านั้นเอง..!!??

Back to top button