SCGD เหล้าเก่าในขวดใหม่

ใกล้เข้ามาอีกนิด...ชิดเข้ามาอีกหน่อย..!! กับกระบวนการตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้น COTTO ที่เหลือจำนวน 1,028.57 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.28%


ใกล้เข้ามาอีกนิด…ชิดเข้ามาอีกหน่อย..!! กับกระบวนการตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้นบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ที่เหลือจำนวน 1,028.57 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.28% จากนักลงทุนรายย่อยของบริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCGD ลูกในไส้ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ย.-6 ธ.ค. 2566 รวม 25 วันทำการ

นั่นเท่ากับว่า เหลือเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ หรืออีกแค่ 7 วัน ทำการเท่านั้น ที่นักลงทุนต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้..??

กรณีใครที่อยากไปต่อ…สามารถใช้สิทธิแลกหุ้นได้..!!

ราคาที่รับซื้อ COTTO อยู่ที่หุ้นละ 2.40 บาท เปรียบเทียบกับ SCGD กำหนดกรอบราคาเสนอขายไว้ที่ 11.20-11.50 บาท ต้องลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้วสัดส่วนการแลกหุ้นจะเป็นเท่าไหร่..?

เบื้องต้นกำหนดกรอบไว้ที่ 1 หุ้น SCGD ต่อ 4.6667–4.7917 หุ้น COTTO

ซึ่งอีกไม่นานเกินรอ ก็คงมีความชัดเจนทั้งราคาเสนอขายและสัดส่วนการแลกหุ้น..!!

แต่หากใครที่อยากพอแค่นี้…ไม่ต้องการแลกหุ้น ก็ต้องรีบขายทิ้งในกระดาน ซึ่งก็มีเวลาเหลืออีกไม่มากก่อนที่จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ…ปิดตำนานหุ้น COTTO ไปโดยปริยาย

แต่จะมีหุ้นกระเบื้องตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมมาเป็นตัวเลือกใหม่ให้นักลงทุนได้ซื้อขายแทน…

SCGD หรือชื่อเดิม บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ถูกวางโพซิชันให้เป็นหัวหอกของกลุ่ม SCC ในการดำเนินธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 439.10 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.61% รองรับการเสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) และการสวอปหุ้น หรือการแลกหุ้น

ส่วนสาเหตุที่ SCC ต้องจัดสตรักเจอร์ธุรกิจใหม่ ถ้าให้วิเคราะห์ 1)ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเพื่อการเติบโตในระยะยาว

และ 2)เป็นการอัพแวลูให้กับตัวธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์…เพราะหลังจากเอา COTTO มาอยู่ภายใต้ SCGD แล้ว จะทำให้สินทรัพย์ของ SCGD ใหญ่บึบ เวลาจะกลับเข้าตลาดฯ ก็จะมีมูลค่ามากขึ้น…

ซึ่งคงไม่ต้องถามนะว่าใครได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าไม่ใช่ SCC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่…

ที่จริงโมเดลนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีหลายบริษัทที่ทำ จะต่างกันตรงที่ดีเทลเท่านั้น อย่างกรณี บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL…ซึ่งก่อนที่จะมาเป็น IVL ในวันนี้ เดิมเคยชื่อ บริษัท อินโดรามา โพลิเมอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IRP แล้วกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “อาลก โลเฮีย” ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน ก็ถอนหุ้น IRP ออกจากตลาดฯ จากนั้นมีการปรับโครงสร้างแล้วเข้าตลาดฯ มาใหม่ แต่ใหญ่กว่าเดิม เป็น IVL ในปัจจุบัน…

หรือกรณีบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ถูกบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ แล้วถอนหุ้นออกจากตลาดฯ กลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ CRC ไป…ขณะที่ CRC เข้าตลาดฯ มาด้วยฐานะซูเปอร์ไอพีโอในขณะนั้น เป็นต้น…

ภาพของ SCGD ก็น่าจะไม่ต่างกันละมั้ง..!?

ถ้าให้สรุปเรื่องราวของ SCGD ก็ไม่ต่างจากเหล้าเก่าในขวดใหม่แหละ…

ว่าแต่รสชาติจะเป็นยังไงน้อ..? จะจี๊ดจ๊าดอ๊ะป่าวยามที่เข้าตลาดฯ.? ชักอยากรู้แล้วสิ

…อิ อิ อิ…

Back to top button