รัฐบาลกับภารกิจเข็นจีดีพีไทย

เสียวสันหลังวาบ! เมื่อเห็นตัวเลขจีดีพี หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2566 ที่ประกาศออกมาขยายตัวเพียง 1.5%


เส้นทางนักลงทุน

เสียวสันหลังวาบ! เมื่อเห็นตัวเลขจีดีพี หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2566 ที่ประกาศออกมาโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพราะขยายตัวเพียง 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.8% ซะอีก

เหตุผลจีดีพีไตรมาสนี้โตน้อย เนื่องจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% มีมูลค่า 70,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สาขาอุตสาหกรรมติดลบไปด้วย 4%, การบริโภคภาครัฐบาลติดลบ 4.9% จากการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 38.6% และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 0.5%

ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 8.1% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส, การลงทุนรวมขยายตัว 1.5% ตามการเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 2.6% ตามการลดลงของการลงทุนรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 65,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.7%, ดุลการค้าเกินดุล 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.91 แสนล้านบาท

9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) จีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 1.9% ซึ่ง SCB EIC คาดจีดีพีไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้สูงกว่า 3 ไตรมาสแรก หลัก ๆ มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้หลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season

ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2566 สศช.ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมอยู่ในกรอบ 2.5-3% เป็นขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นกรอบล่างของการประมาณการครั้งก่อน คาดการลงทุนภาครัฐหดตัวไปถึง 1.8% เพราะติดปัญหาเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้ ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ในระดับ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล

ท่ามกลางแรงผลักดันของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการให้จีดีพีไทยพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 5% ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป แต่ในสายตาของสำนักวิจัยค่ายต่าง ๆ แล้ว ดูเหมือนจะไม่คิดเช่นนั้น เพราะส่วนใหญ่มองกันที่ตัวเลข 3%

Krungthai COMPASS มองจีดีพีไทยในปี 2567 จะขยายตัวเร่งขึ้นในกรอบ 2.7-3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%) ภาคการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตตามภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะแตะราว 35 ล้านคน

สิ่งที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกจะถูกกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนความล่าช้า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะกระทบการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐในปีหน้า

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินจีดีพีไทยปีหน้าจะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปีนี้ การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ขณะที่การส่งออกจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศ

SCB EIC ระบุ เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะฟื้นตัวเปราะบางบนความไม่แน่นอนรอบด้าน หนุนด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 37.7 ล้านคน การส่งออกฟื้นตัว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment)

อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส, เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง อาจกระทบการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และวิกฤตภัยแล้งในหลายพื้นที่อาจเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก

จากมุมมองของสำนักวิจัยแต่ละค่าย ซึ่งรวมถึงสศช.ที่เห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยประเมินว่าตัวเลขจีดีพีไทยในปี 2567 จะอยู่ในกรอบระหว่าง 2.7-3.7% ถือเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากเป้าหมาย 5% ที่รัฐบาลตั้งไว้อย่างมาก

ดังนั้น หาก 1 ในเครื่องมือที่รัฐบาลต้องการใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าได้แรงกว่าปกติ คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้หรือไม่ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีข้อสรุป

หากคำตอบออกมาว่า “ทำไม่ได้” เพราะผิดกฎหมาย รัฐบาลชุดที่มี “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐบมนตรี ก็คงต้องกลับมานั่งคิดใหม่ ทำใหม่ ว่าจะหาวิธีไหนมาเข็นจีดีพีไทยให้ถึง 5%

Back to top button