เกณฑ์หุ้นกู้ใหม่..ได้ไม่คุ้มเสีย.!?

เรียกว่าผ่านการทำ Focus Group กับบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ มาแล้ว และ ก.ล.ต. กำลังตระเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณา และหากบอร์ดไฟเขียว จะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป..!!


เรียกว่าผ่านการทำ Focus Group กับบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ มาแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังตระเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อพิจารณา และหากบอร์ดไฟเขียว จะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป..!!

นั่นคือเกณฑ์คุมเข้มบริษัทที่ขายหุ้นกู้ ต้องเปิดเผยข้อมูล Key Financial Ratio ที่สำคัญเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนเครดิตจริงมากขึ้น..!!

ไฮไลต์สำคัญคือ..ยกระดับเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แบบ PO ที่กำหนดให้มีเรตติ้งระดับ A ขึ้นไป (จากเดิม Investment Grade หรือ BBB ขึ้นไป)

เท่านั้นไม่พอมีแผนพิจารณายกระดับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า ในการกำกับดูแลการขาย High Yield Bond สำหรับกลุ่ม High Net Worth ที่จำเป็นในการพิสูจน์การจัดกลุ่มลูกค้าที่มาลงทุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ปฏิเสธไม่ได้ละว่าก้นบึ้งตะกอนความคิดเรื่องนี้มีต้นตอมาจากหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ทำให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 4,000 ราย มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท

นี่ยังไม่รวมมูลค่าความเสียหายอื่นรวม ๆ อีกหลายหมื่นล้านบาท

เกิดคำถามตามมาทันทีว่า การอัพเรตติ้งจาก BBB เป็น A ถึงจะออกหรือขายหุ้นกู้ได้..ในทางทฤษฎีดูเหมือนดี..แต่แทบเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติจริง..!!

หากก.ล.ต.ประกาศใช้เกณฑ์ที่ว่าจริง ๆ ฟันธงได้เลยว่า “ตลาดหุ้นกู้” พังยับเยินอย่างแน่นอน..!!

ด้วยความที่ว่าปัจจุบันบริษัทจดทะเบียน..ที่พึ่งพิงเงินทุนจาก “หุ้นกู้เพื่อต่อลมหายใจ” และขยายการลงทุน ที่มีเรตติ้งระดับ BBB ขึ้นไป..แต่ไม่ถึงระดับ A มีอยู่เพียง 56 บริษัท คิดเป็นมูลค่าหุ้นกู้กว่า 410,000 ล้านบาทหรือประมาณ 10%

จากตัวเลขมูลค่าหุ้นกู้ทั้งระบบประมาณกว่า 4,400,000 ล้านบาท

เรื่องนี้จะถือว่า..“หวังดี..แต่ประสงค์ร้าย” หรือไม่..อันนี้คงจะคิดกันเองได้ไม่ยากนัก

จากสมมติฐานที่ว่า บริษัทแห่งหนึ่งมีหุ้นกู้ 10,000 ล้านบาท (เรตติ้งระดับ BBB) ต้องการจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นชุดเดิม..แต่ด้วยเกณฑ์ใหม่ที่ว่าต้องมีเรตติ้ง A ขึ้นไป..

สุดท้าย..บริษัทที่ว่านี้จะไม่มีโอกาสออกหุ้นกู้ได้เลย..สิ่งที่จะตามมาคือความเสี่ยงหุ้นกู้ชุดเก่าที่ครบกำหนดไถ่ถอนจะผิดนัดชำระทันที..!!

คงจะมีเพียงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ที่พอรับเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวได้..

ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด ที่น่าสนใจระบุว่า บริษัทที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไฟแนนซ์ (Finance) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Property) ที่มีการออกจำหน่ายหุ้นกู้สัดส่วนที่สูงและมีการจำหน่ายแบบ PO ช่วงที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างกลุ่มไฟแนนซ์ คือ MTC-SAWAD-SCAP-JMT-JMART

ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คือ ANAN-BRI-LPN-NOBLE-ORI-S-SIRI

เอาล่ะ..เรื่องนี้ก.ล.ต.ยอมรับว่ามีแนวคิดจริง ๆ แต่อยู่ที่บอร์ดจะเอาด้วยหรือไม่..!?

แต่เชื่อเหอะว่า..หากใช้จริงมันคงไม่ต่างอะไรกับ “เผานา..เพื่อล่าหนู” นั่นเอง..!?

สุดท้ายมันอาจ “ได้ไม่คุ้มเสีย” นะ..!!!

Back to top button