หนี้ครัวเรือนไทย.!?

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “หนี้ครัวเรือน” ได้กลายเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ด้วยตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่พุ่งสูงถึง 94.6% ในช่วงโควิด-19


ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “หนี้ครัวเรือน” ได้กลายเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ด้วยตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่พุ่งสูงถึง 94.6% ในช่วงโควิด-19 และแม้จะลดลงเหลือ 87.4% ในไตรมาส 1 ของปีนี้ แต่สถานการณ์ก็ยังอยู่ในระดับ “เปราะบาง” และ “น่ากังวล” 

โดยหนี้ครัวเรือนที่ปรับลดลงนั้น มาจากฐาน GDP ในไตรมาส 1/2568 ที่กลับมาขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ได้เกิดจากมูลหนี้ที่ลดลง โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนรวมอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท

เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้ ซ่อนปัญหาซับซ้อนหลายชั้น ทั้งหนี้ที่เริ่มตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน หนี้ที่เกิดจากเหตุฉุกเฉิน การเป็นหนี้นอกระบบ หนี้เรื้อรัง และหนี้เสียที่ยังคงรอการเยียวยา คำถามคือจะ “ปลดล็อก” วงจรนี้อย่างไร?

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในไทยไม่ใช่เพียงตัวเลข แต่คือ “พฤติกรรม” และ “โครงสร้าง” ที่ฝังรากลึก เริ่มตั้งแต่คนไทยจำนวนมากเริ่มเป็นหนี้เร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (25-29 ปี) ที่กว่าครึ่งมีหนี้แล้ว และมักเริ่มจาก “บัตรเครดิต”

จากนั้นความเสี่ยงจะขยายตัวเมื่อเป็นหนี้เกินตัว ขาดข้อมูล หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติ เมื่อเข้าสู่วงจรนี้ หลายคนติดกับดักหนี้เรื้อรังโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะหนี้ที่ต้องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เช่น บัตรกดเงินสด ที่ต้นไม่ลดแต่ดอกเบี้ยไม่หยุด

ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ “หนี้นอกระบบ” ซึ่งไม่ได้อยู่ในการคำนวณทางการเงินอย่างเป็นทางการ แต่กลับเป็นหนึ่งในตัวการที่สร้างความกดดันให้กับเศรษฐกิจไทย กลายเป็นโจทย์หินของรัฐบาลและ ธปท. ในการดึงหนี้นอกระบบกลับเข้าสู่ในระบบ และการหาแนวทางแก้หนี้อย่างยั่งยืน 

หนึ่งในมาตรการแก้หนี้ที่ ธปท. พยายามผลักดันนั่นคือ โครงการ “คุณสู้เราช่วย” ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะกิจ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอด เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะร่วมรับผิดชอบครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยหรือยอดหนี้ที่ลดลง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากเงินนำส่งที่เจ้าหนี้ปกติส่งให้กับรัฐ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ

โครงการ “คุณสู้เราช่วย” เปิดเฟสแรกไปช่วงเดือนธันวาคม 2567 ถึงมิถุนายน 2568 และขยายเป็นเฟส 2 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2568 นี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) จ่ายตรง คงทรัพย์ : เน้นช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ตรงเวลาเพื่อรักษาทรัพย์สินไว้ เหมาะกับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือธุรกิจขนาดเล็ก (SME)

หากเป็นสินเชื่อบ้าน วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท, สินเชื่อเช่าซื้อ/จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล (มีหรือไม่มีหลักประกัน) วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องเป็นหนี้ที่ทำก่อน 1 มกราคม 2567 มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ไม่ค้างชำระเลย (หนี้ดี) หรือหากค้างชำระไม่เกิน 30 วันนับจากวันครบกำหนดชำระ

มาตรการนี้ไม่ได้ช่วยคนที่เป็นหนี้เสีย (NPL) โดยตรง แต่ช่วยคนที่มีประวัติตำหนิหรือเคยมีปัญหาการชำระหนี้ โดยกำหนดชำระหนี้ภายใน 3 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 ชำระ 50% ของค่างวดเดิม เช่น หนี้บ้านค่างวดเดิม 15,000 บาท จะลดเหลือ 7,500 บาทต่อเดือน ถัดมาปีที่ 2 ชำระ 70% ของค่างวดเดิม และปีที่ 3 ชำระ 90% ของค่างวดเดิม โดยเงินที่จ่ายเข้ามาใน 3 ปีนี้จะถูกนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ดอกเบี้ยจะถูกพักไว้ หากจ่ายได้ครบ 3 ปี ดอกเบี้ยที่พักไว้จะถูกยกเลิกทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขในช่วง 12 เดือนแรก ต้องไม่ก่อหนี้อุปโภคบริโภคใหม่

2) จ่าย ปิด จบ : เน้นช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้ค้างชำระจำนวนไม่มาก ให้สามารถปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น เหมาะกับคนที่เป็นหนี้ NPL (ค้างชำระเกิน 90 วัน) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 แบ่งเป็นกลุ่มแรก มียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท (สำหรับสินเชื่อทุกประเภท) กลุ่มที่สอง ยอดหนี้ไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และกลุ่มที่สาม ยอดหนี้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับสินเชื่อมีหลักประกันที่ถูกบังคับหลักประกันแล้ว เช่น บ้าน, รถ การชำระหนี้ ลูกหนี้เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชำระเพียงบางส่วนของยอดหนี้เพื่อปิดบัญชี โดยมาตรการนี้ไม่มีเงื่อนไขห้ามก่อหนี้ใหม่ หรือการรายงานประวัติในเครดิตบูโร

3) จ่าย ตัด ต้น เป็นมาตรการใหม่ในเฟส 2 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่กู้แบบไม่มีหลักประกัน แต่ยอดหนี้สูงกว่าที่จะเข้ามาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ซึ่งเหมาะกับลูกหนี้ NPL ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ยอดหนี้ต้องไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล 

วิธีชำระจะผ่อนต่อเดือนที่ 2% ของยอดเงินต้นคงค้างเป็นเวลา 3 ปี โดยเงินทุกบาทที่จ่ายจะตัดเงินต้นทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่พักไว้จะถูกยกเลิกทั้งหมดหากจ่ายได้ครบ 3 ปี ทำให้ภาระหนี้ลดลงและสามารถปิดบัญชีได้ โดยมีเงื่อนไขต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ เหมือนมาตรการนี้ “จ่ายตรง คงทรัพย์” และมีการรายงานสถานะในเครดิตบูโร (สถานะบัญชีจะเปลี่ยนเป็น 10 หากจ่ายงวดแรกสำเร็จ) ถือเป็นโครงการที่ดี แต่ไม่รู้ว่าอ่อนประชาสัมพันธ์หรือไม่ เลยทำให้ยอดการลงทะเบียนยังไม่เข้าเป้า

โดยพบว่าตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567-15 กรกฎาคม 2568 มีลูกหนี้ลงทะเบียนทั้งหมดประมาณ 2 ล้านบัญชี คิดเป็น 1.5 ล้านคน จากจำนวนผู้มีคุณสมบัติที่คาดการณ์ไว้ 1.9 ล้านคน หรือ 8.9 แสนล้านบาท โดยมีผู้ที่เข้าเกณฑ์จริง 650,000 ราย คิดเป็น 34% ของผู้มีคุณสมบัติ และเป็นมูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 54% ของมูลหนี้ทั้งหมดในจำนวนผู้ที่เข้าเกณฑ์ 650,000 คน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือครบทุกคน เนื่องจากยังมีขั้นตอนการทำสัญญา

ขณะที่ภาพรวมการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. รวมทุกมาตรการ ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568–31 มีนาคม2568  มีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ประมาณ 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ 880,000 ล้านบาท สะท้อนว่ายังมีคนไทยที่เป็นหนี้อีกมากที่รอการช่วยเหลือจากภาครัฐ ในขณะที่การก่อหนี้ ไม่ใช่เรื่องผิด หากหนี้ก้อนนั้นเป็นหนี้ที่ดี เช่น หนี้บ้าน เพียงแค่ต้องบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบและรู้เท่าทันเท่านั้น

Back to top button