พาราสาวะถี

ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นกับผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนน 311 เสียง ต่อ 177 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง


ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นกับผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนน  311 เสียง ต่อ 177 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เสียงของฝ่ายค้าน 4 คนที่โหวตสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้านนั่นก็คือ 3 เสียงจากไทยสร้างไทย และ 1 เสียงจากประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งรายหลัง สุรทิน พิจารณ์ ไม่ต้องมีคำถามอะไร เพราะพรรค 1 เสียงสามารถที่จะลงมติโดยอ้างความเป็นอิสระ ยิ่งเป็นร่างงบประมาณฯ ยิ่งตัดสินใจง่ายและอธิบายไม่ยาก

แต่กรณีของ 3 สส.จากพรรคไทยสร้างไทย มีมุมให้น่าศึกษาไม่น้อย เพราะ 3 เสียงที่โหวตหนุนฝ่ายรัฐบาลคือ 3 ตัวแทนจากสองจังหวัดในภาคอีสาน ประกอบไปด้วย สุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร หรั่ง ธุรพล และ อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สอง สส.อุดรธานี โดยทั้งหมดให้เหตุผลว่า งบประมาณได้ลงในจังหวัดตัวเอง ถ้าไม่ลงมติเห็นด้วย ประชาชนก็ไม่เห็นด้วย ในเมื่อประชาชนเลือก สส.มา ไม่ใช่ สส.จะตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้ตามมติของพรรคหรือฝ่ายค้าน

นี่อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ที่สามารถคว้าชัยชนะเข้าไปนั่งในสภาหินอ่อนได้ น่าจะมีปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกัน แต่สุดท้ายหลังจากมีรัฐบาล ประชาชนในพื้นที่ย่อมส่งเสียงสะท้อนผ่านตัวแทนของตัวเองว่าต้องการให้แสดงท่าทีไปในทิศทางไหน ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือความจริงอาจจะไม่มีอะไรที่ยึดโยงต่อกัน เป็นเพียงข้ออ้างตามช่องทางที่นักเลือกตั้งส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นเกราะป้องกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

ยิ่งเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายงบประมาณด้วยแล้ว มันย่อมที่จะทำให้คนส่วนใหญ่คิดไปในทางลบได้ เหมือนที่เคยบอกไว้ให้จับตาดูกระบวนการในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งจะมีความเคลื่อนไหวต่อรองของบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลาย อาจจะไม่โจ๋งครึ่มเหมือนในอดีต แต่ยังไงก็มีพิรุธให้ได้จับผิดกันอยู่ ทุกอย่างเมื่อใช้ข้ออ้างที่ว่าเพื่อดูแลประชาชนในทุกพื้นที่ มันย่อมที่จะหาเหตุเอาผิดได้ยาก ถ้ารู้จักกินแบ่งยังไงก็อยู่รอด ที่ตกม้าตายส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกชอบกินรวบทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการแหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้านของ 3 สส.ไทยสร้างไทยนั้น ทำให้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้แสดงสปิริตด้วยการยื่นใบลาออกจากเก้าอี้เลขาธิการพรรคต่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคทันที ซึ่งเจ้าตัวได้ยืนยันกับนักข่าวว่า ได้กำชับผู้แทนฯ ของพรรคทุกคนถึง 3 ครั้งให้ลงคะแนนเสียงตามมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567 แต่ก็ยังมีการแหกคอก ส่วนโทษของทั้งสามคนจะถึงขั้นขับออกจากพรรคหรือไม่นั้น ตรงนี้แหละน่าสนใจ

หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับว่า ไทยสร้างไทยจากที่มี 6 เสียงก็จะหายไปทันที 3 เสียง การขับพ้นพรรคก็เท่ากับทั้งสามคนยังมีฐานะความเป็น สส.อยู่ และต้องไปหาพรรคสังกัดใหม่ 30 วัน ถือเป็นการเข้าทาง และเดาได้ไม่ยากว่าจะไปอยู่พรรคไหน แต่หากไม่ขับแล้วจะอยู่กันยังไง ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านนั้นเมื่อเทียบกับก้าวไกลแล้ว ต้องยอมรับกันว่า ท่วงทำนองและท่าทีของพรรคเจ๊หน่อยเทียบไม่ติด การทำตัวเป็นนางเอกทั้งที่ตัวเองได้รับบทนางร้าย ดูยังไงมันก็ไม่เนียนตา

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 หลังจากที่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาจำนวน 72 คน โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ตัวแทนจากรัฐบาลนั่งเป็นประธาน จะมีเวลาในการพิจารณา 105 วัน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน โดยในชั้นแปรญัตตินี่แหละที่น่าจับตา พรรคฝ่ายค้านจะมีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม หรือปรับลดงบประมาณเหมือนที่ได้อภิปรายไว้ในสภามากน้อยขนาดไหน

ที่ผ่านมา มักจะไม่สามารถทำได้ตามที่ขู่กันเอาไว้ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขของกฎหมาย รวมไปถึงกระบวนการในการเจรจา ที่ย้ำมาโดยตลอดว่าเป็นช่องทางที่นักเลือกตั้งมักจะใช้ต่อรองเพื่อให้สามารถจัดสรรปันส่วนกันได้ตามต้องการ ไม่ได้มองไปถึงการตอบสนอง และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นด้านหลัก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันอีกประการว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้เป็นเรื่องที่สภาฯ ต้องเร่งพิจารณาดำเนินการ เนื่องจากล่าช้ามานานมาก 

หากยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ภายในเดือนพฤษภาคมนี้หรือไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน รัฐบาลจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2568 ให้สภาพิจารณากันแล้ว จากข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าส่วนหนึ่งต้องยึดโยงกับสิ่งที่รัฐบาลก่อนเคยทำไว้ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ กรอบของข้อกฎหมายจึงต้องเร่งทำให้เสร็จกันโดยเร็ว และขอให้ผ่านไปก่อน ค่อยไปว่ากันกับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2568 ซึ่งจะถือเป็นอำนาจเต็มของรัฐบาลปัจจุบัน ฝ่ายค้านก็จะสามารถตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ 

ถ้ายังไม่หนำใจ สามารถที่จะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ นั่นเป็นแนวทางที่พรรคฝ่ายค้านจะเดินกัน ซีกของรัฐบาล เมื่อกฎหมายงบประมาณผ่านวาระแรกไปแล้วก็แทบจะโล่งใจสบายตัวได้ แต่สำหรับ เศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีของเพื่อไทยยังต้องลุ้นกันเฮือกใหญ่กับคำตอบของทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต เพราะนี่คือนโยบายหลักที่พรรคแกนนำรัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะนำไปสู่ผลงานชิ้นโบว์แดงในการแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน

จะว่าไปแล้วแนวโน้มก็ไม่น่าจะมีปัญหา ฟังจากเศรษฐาให้สัมภาษณ์วันก่อน การเดินตามแนวทางนี้เป็นไปตามคำแนะนำของ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น เมื่อยอมปรับเปลี่ยนจากเสียงเรียกร้องของหลายฝ่าย จึงไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่ทำให้โครงการสะดุด ส่วนที่ยังมีบางพวกมองกันว่า รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะเจอตอเหมือนที่เคยเจอมาในอดีต อาจพูดได้ว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะตัวแปรต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก พวกขาประจำก็แทบจะไร้เรี่ยวแรง ถ้าไม่มั่นใจว่าอยู่ได้ยาว เศรษฐาคงไม่กล้าขนของเข้าไปนอนทำเนียบฯ ในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน

Back to top button