พาราสาวะถี

ถูกต้องตามคำยืนยันของ ปกรณ์ นิลประพันธ์ ที่ว่า การตอบคำถามของกระทรวงการคลังไม่ได้ไฟเขียวให้เดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต


ถูกต้องตามคำยืนยันของ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า การตอบคำถามของกระทรวงการคลังไม่ได้ไฟเขียวให้เดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่บอกว่าออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้น ก็แล้วแต่ เพราะเป็นกฎหมายเหมือนกัน

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐบาลย้ำว่าจะต้องกู้เงินเพื่อกระตุ้นครั้งใหญ่นั้น จะอยู่ในโหมดของการออกกฎหมายแบบไหนระหว่าง พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. ซึ่งเลขาฯ กฤษฎีกาก็บอกว่า “ไม่เป็นไร” ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บอกว่าให้กู้ได้ด้วยการตราเป็นกฎหมาย กฎหมายก็มี พ.ร.บ.กับ พ.ร.ก. ที่ผ่านมาออกเป็น พ.ร.ก. ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ถ้าถามว่าออกเป็น พ.ร.บ. ทำได้หรือไม่ “ก็ทำได้” เคยพิจารณา 3 วาระรวดแล้วก็มี ไม่ใช่อะไรที่ยาก

จุดน่าสนใจจึงอยู่ที่ข้อเสนอแนะของกฤษฎีกามากกว่า ที่ต้องไฮไลต์คือ ต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ และต้องอาศัยตัวเลขเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็ต้องย้อนกลับไปในสิ่งที่เป็นความตั้งใจของรัฐบาลหลังได้รับคำตอบแล้วนั่นก็คือ จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานก่อน แนวทางสำคัญคือ ให้เลขาฯ กฤษฎีกาที่เป็นกรรมการด้วยอธิบายความเห็นให้กระจ่างต่อที่ประชุม

จากนั้นก็จะเป็นการถามความเห็นของผู้บริหารหน่วยงานที่สำคัญที่ร่วมเป็นกรรมการเช่นกัน ในที่นี้คงหนีไม่พ้น เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อยืนยันตัวเลขเศรษฐกิจร่วมกันว่า อยู่ในจุดวิกฤตที่จำเป็นจะต้องออกเป็นกฎหมายกู้เงินหรือไม่ โดยบทสัมภาษณ์ของเศรษฐาล่าสุดยังย้ำอย่างตรงไปตรงมา อะไรที่เป็นความเห็นต่างก็ต้องพูดคุยกันจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เห็นตรงกัน

แนวโน้มของการที่จะได้เห็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้านั้นมีความเป็นไปได้มากว่าจะสะดุด เพราะจับอาการขู่ของบรรดาพวกขาประจำทั้งหลาย เมื่อได้เห็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถือเป็นการออกอาการชัด เหมือนที่ วันชัย สอนศิริ ส.ว.ผู้ที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงบอกว่า ขนาดกฤษฎีกายังไม่คัดค้าน ดังนั้น ในกระบวนการพิจารณาตามช่องทางของสภาไม่ว่าจะโดยประชุมร่วมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจึงไม่น่ามีปัญหา

ต้องยอมรับว่าความเห็นของคนที่เขียนคำถามพ่วงให้พวกลากตั้งมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ ตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้น มองอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง เห็นเหตุเห็นผลเพราะการออก พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาลเลือกใช้กลไกของสภา ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อกระบวนการใด ๆ ย่อมผ่านไปได้ เพราะกระบวนการที่ผ่านสภาฯ และคณะกรรมาธิการที่จะตรวจสอบก็ถือว่ามีความรอบคอบรัดกุม จุดสำคัญคือถ้ากระบวนการเหล่านี้ไม่รอบคอบ รัดกุม คงถูกสกัดตั้งแต่ชั้นกฤษฎีกาไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่มีการขู่ว่าจะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวนั้น จากบทเรียนดังกล่าวทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเศรษฐายิ่งตั้งการ์ดสูง จากที่เคยประกาศนโยบายแล้วทำเลย แต่ครั้งนี้ออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ใช้กลไกตรวจสอบของสภาฯ ถ้าผ่านด่าน สส.และพวกลากตั้งไปแล้ว จึงไม่น่าจะสะดุด หยุดชะงัก ขณะที่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากยึดตามกระบวนการที่ว่าทุกอย่างผ่านขั้นตอนโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่มีเหตุที่จะทำให้เรื่องนี้ต้องตกม้าตาย

ขณะเดียวกัน การที่มีคนยกเอาประเด็นสิ่งที่จะทำกับที่ได้หาเสียงไว้ไม่ตรงกันนั้น ตามกระบวนการพิจารณาแล้วยังต้องแก้ไขกันอีกหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือนโยบายที่หาเสียงไว้นั้นก็บอกไว้ว่า สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เมื่อเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำแล้วได้ผลย่อมไม่มีเหตุที่จะต้องคัดค้าน อีกด้านหากทำไปแล้วเกิดความผิดพลาด ความรับผิดชอบย่อมตกอยู่ที่ผู้ดำเนินนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

ความจริงเศรษฐาก็ตอบชัดถึงการเดินหน้าโครงการนี้ ไปได้แน่นอน เพียงแต่ต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตก่อน เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยคำถามของกระทรวงการคลังและคำตอบของกฤษฎีกา ที่เจ้าตัวบอกว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย นอกจากนั้นยังได้เน้นย้ำเรื่องความถูกต้อง ครบถ้วน ด้วยการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งในฐานะผู้นำก็ยอมรับว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมด เมื่อโจทย์คือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ก็ต้องถกเถียง แลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความเห็นที่ตกผลึกเป็นประโยชน์ร่วมกัน

เป็นธรรมดาของพวกขาประจำและฝ่ายแค้นที่ย่อมหาทางดิสเครดิต หรือสั่นคลอนเสถียรภาพของตัวผู้นำและรัฐบาลให้ได้ ยิ่งรัฐบาลนี้มีแกนหลักอย่างเพื่อไทย และตัวละครสำคัญอย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ร่วมอยู่ในขบวนด้วยในฐานะหัวหน้าพรรคแกนนำ ย่อมตกเป็นเป้าโจมตีได้โดยง่าย อย่างที่ล่าสุด ไปขุดเอาเรื่องหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.บอ. หรือที่เรียกว่า “มินิ วปอ.” มาให้ร้ายว่า เป็นการคิดหลักสูตรนี้มาเพื่อลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะ

ทั้งที่หลักสูตรดังกล่าวดำเนินการทำตามระเบียบและผ่านการพิจารณามาร่วม 3 ปี ตั้งแต่ยุครัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ โดยมีเป้าหมายดึงเอาคนรุ่นกลาง ถึงรุ่นใหม่ ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารองค์กร หรือ Future CEO เข้ามาเรียน เพื่อให้มีข้อมูล ความเข้าใจในองค์ความรู้ด้านความมั่นคง รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ร่วมกัน ภายใต้สถานการณ์ด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่ตั้งใจทำงานพยายามจะลดช่องว่างระหว่างอนุรักษนิยมกับคนรุ่นใหม่ แต่พวกสุดโต่งกลับตั้งท่าผลักไสไล่ส่งด้วยอคติและความเกลียดชังอย่างเดียว นี่คือคำตอบว่าใคร พวกไหน ที่เป็นตัวถ่วงความเจริญ

Back to top button