ตื่นตูมลิเทียม & ตื่นรู้โปแตช

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา “หนึ่งข่าวใหญ่” ที่ทำให้ “คนไทยตื่นตูม” กันทั้งประเทศ เมื่อ “รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี” ออกมาแถลงว่า กระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจค้นพบ “แหล่งแร่ลิเธียม” ที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง


ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา “หนึ่งข่าวใหญ่” ที่ทำให้ “คนไทยตื่นตูม” กันทั้งประเทศ เมื่อ “รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงว่า กระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจค้นพบ “แหล่งแร่ลิเทียม” ที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง คือ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมในการเดิน หน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ระบุว่า จากปีก่อนหน้าที่เป็นข่าวใหญ่ว่า อินเดียค้นพบแร่ลิเทียม และกลายเป็นผู้เล่นหลัก ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ EV นั้น ตอนนี้ประเทศไทย มีลุ้นเช่นกันจากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ แร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าว มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินาเท่านั้น..

ด้วยข่าวนี้นี่เอง ทำให้ “สามัญชนคนไทย” บางกลุ่มโหมโรงจินตนาการไกลไปถึงว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่และรถ EV ของโลก (เหมือนดั่งเช่นที่เคยฝันหวานกันว่า “กัญชา” จะเป็นพืชเศรษฐกิจ..ที่มาสร้างรายได้ก้อนโตให้กับเกษตรกร..สุดท้ายก็ไปจบที่นายทุนกัญชาสายเอ็นรวยกันไป)

แต่ “ฝันสลายชั่วข้ามคืน” เมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลเรื่อง “แร่ลิเทียม” ในไทย ถือเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไทยไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก

“คำว่า Mineral Resource หมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ แตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ที่หมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้”

งานนี้…จึงกลายเป็นเรื่อง “โอละพ่อ” ไปซะฉิบ.!!

จากบทเรียน “ตื่นตูมแร่ลิเทียม” สามัญชนคนไทยและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรต้องหันมา “ตื่นรู้แร่โปแตช” น่าจะดีซะกว่า..!!?

นั่นหมายถึง “โครงการเหมือแร่โปแตชชัยภูมิ” ที่ดำเนินการโดยบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (APOT) ที่มีกระทรวงการคลังร่วมถือหุ้น 20% ที่สำคัญมีการศึกษาความเป็นได้ของโครงการแทบจะทุกซอกทุกมุมแล้ว

ทั้งปริมาณสำรองแร่โปแตช และประโยชน์ที่ภาคการเกษตรไทยจะได้รับจากต้นทุนปุ๋ยที่จะถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ 

นี่ยังไม่รวมที่แร่โปแตชที่ว่านี้..สามารถนำไปต่อยอดผลิต “แบตเตอรี่เกลือ” ได้อีกทางหนึ่งด้วยนะ

ปลายปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน APOT และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กระทรวงอุตสาหกรรม) ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท

ตามไทม์ไลน์ดังกล่าว..การปรับโครงการสร้างหนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นการเพิ่มทุน APOT จะเพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 2/67

ด้วยราคาแร่โปแตชที่ปรับตัวสูง แต่ต้นทุนการผลิตที่ลดลง นั่นทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ว่าไปแล้ว “เหมืองโปแตช” นี่แหละคือคุณูปการเศรษฐกิจและปลดแอกให้เกษตรกรไทยอย่างแท้จริง..

น่าเศร้าใจสามัญชนคนไทย “ใกล้เกลือแท้ ๆ..แต่มัวกินด่าง” มาหลายสิบปี ตื่นรู้กันซะทีได้แล้ว..!??

Back to top button