‘ความเท่าเทียม’ จะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย

หากนับช่วงเวลากลางเดือน มกราคม 2567 ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศจะจัดการกับประเด็นร้อนแรง อย่าง Program trading กับ Short selling ที่เป็นข้อถกเถียงกันว่า ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ลงทุน


หากนับช่วงเวลากลางเดือน มกราคม 2567 ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศจะจัดการกับประเด็นร้อนแรง อย่าง Program trading กับ Short selling ที่เป็นข้อถกเถียงกันว่า ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ลงทุนนั้น

ระยะเวลาผ่านไปไม่ถึง 1 เดือนเต็ม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออก statement ผลการศึกษาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวออกมา อย่างรวดเร็ว

นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุน ที่เป็นธรรม และเท่าเทียมมากขึ้นของตลาดหุ้นไทย โดยเน้นย้ำถึงการเพิ่มความโปร่งใส การตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เพื่อปกป้องนักลงทุน

ในเบื้องต้น มาตรการดังกล่าว จะมีเนื้อหาแบ่งออกมาเป็น 4 ข้อ เพื่อเพิ่มมาตรการควบคุมและดูแล ธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling) กับ การใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น (Program trading) ได้ ดังนี้

1.ตลท.จะเพิ่มกลไกเพิ่มเติมในการควบคุมผลกระทบที่มีต่อราคาและสภาพคล่องจากธุรกรรม short sell และ program trading

2.การรายงาน (Report) ตลท.จะมีการให้ข้อมูล ของการ short selling และ program trading ต่อ public มากขึ้น และ ”ในเชิงลึกแบบละเอียด” เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

3.การติดตามและบังคับใช้กฎเกณฑ์ ตลท.และ บริษัทหลักทรัพย์ จะมีการวางกระบวนการทำงานและระบบในการตรวจสอบข้อมูล และดำเนินการป้องกันการทำธุรกรรมที่ไม่ปกติและติดตามลงโทษผู้กระทำผิดและร่วมกระทำผิด อย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อความชัดเจนและเสมอภาค

4.การแบ่งความรับผิดชอบ ตลท.จะเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในการกำกับดูแลร่วมกันปรับกฎระเบียบต่าง ๆ (ก.ล.ต.) และวางหน้าที่ของแต่ละผู้กำกับดูแลและ ตลท. อย่างชัดเจนและครบถ้วน เพื่อให้สามารถตรวจสอบความผิดได้สะดวก รวดเร็ว และรุนแรงขึ้น กับผู้กระทำความผิดและผู้ร่วมกระทำความผิด

โดยรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวทั้งหมดจะเปิดเผยให้สาธารณะได้รับทราบหลังจากการปรึกษาร่วมกันกับหน่วยงานกำกับดูแล (ก.ล.ต.) โดยเร็วที่สุด

สำหรับสิ่งที่ ผู้เขียนประเมินเบื้องต้น ว่า นักลงทุน จะได้เห็นภายหลังจากการนำผลศึกษาเหล่านี้ไปหารือ กับทางสำนักงานก.ล.ต. ในฐานะผู้ออกกฎระเบียบในการควบคุมดูแลทั้งหมด คือ

1.ตลท.จะใช้เครื่องมือบางอย่าง (ซึ่งอาจจะ) เป็นกฎระเบียบ ในการป้องกันไม่ให้ program trading สร้างความผันผวนในราคาหุ้น ทั้งในรูปแบบที่เป็น “ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นทั่วไป” กับ “ธุรกรรม short selling”

2.ตลท.จะสั่งให้มีการรายงานข้อมูลบางอย่างเพิ่มมากขึ้น อาทิ รายงานธุรกรรม short selling ที่มีออร์เดอร์ขนาดใหญ่ที่มีนัยสำคัญ ว่า “ใครเป็นเจ้าของการทำธุรกรรมนี้” โดยจะมีการรายงาน เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน

3.ตลท.จะขอความร่วมมือ จากบริษัทหลักทรัพย์ ในฐานะด่านแรกที่จะต้องผ่านธุรกรรม program trading กับ short selling ให้เตือนลูกค้าบางราย ที่อาจจะส่งคำสั่งที่ผิดต่อกฎหมายหลักทรัพย์

รวมถึงจะมีการเพิ่มบทลงโทษ ต่อลูกค้า (ในฐานะผู้ที่กระทำผิด) กับบริษัทหลักทรัพย์ (ในฐานะต้นทางที่ทำให้เกิดการกระทำผิด) โดยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้เลย

4.ทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ การได้รับความร่วมมือจากสำนักงานก.ล.ต. ในการปรึกษาหารือในการออกกฎระเบียบ มาบังคับใช้ใน 3 ข้อที่กล่าวมา

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ภายหลังจากที่ ก.ล.ต.ได้รับข้อมูล การตรวจสอบความผิดปกติในธุรกรรมซื้อขายหุ้นแล้ว จะต้องรีบหาผู้กระทำผิด พร้อมกับ กล่าวโทษ และลงโทษผู้กระทำ อย่างรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์

โดยไม่จำเป็นต้องรอการกล่าวโทษที่ต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี เหมือนที่ทำในปัจจุบัน

เหตุผลที่ต้องการความรวดเร็วในการลงโทษในแต่ละเคสนี้ ให้เผยแพร่สู่สาธารณชนให้เร็ว เพื่อเป็นการปรามไม่ให้กับผู้ใดก็ตาม ที่มีความคิดจะกระทำความผิด ได้เห็นบทลงโทษ และเกรงกลัวว่าจะมีชื่อ-นามสกุล ไปในทางที่ผิดกฎหมาย ยำเกรงและไม่กล้าทำความผิดในที่สุด

ผู้เขียนก็ได้แต่คาดหวังว่า ผลการศึกษาของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่รีบออกมา จะได้รับความเห็นชอบ และการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรมจากก.ล.ต. เพื่อนักลงทุนให้เกิดความเท่าเทียม

เหมือนอย่างกรณีล่าสุด “ตลท.ปรับเกณฑ์เปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ ตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไป” โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (19 ก.พ.) เป็นต้นไป

คงต้องมาจับตาดูการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดี เพราะโลกของการลงทุน มันหมุนไปเร็วมาก “การออกมาตรการป้องปราม” หรือ “สร้างกฎมาบังคับใช้” ย่อมต้องดีกว่า “การยกเลิก”

ไม่เช่นนั้นตลาดหุ้นเราจะถอยหลังกลับไปยังจุดเดิมที่เคยเดินทางผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน จนวันนี้กำลังจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 50 แล้ว

Back to top button