สรุปมาตรการใหม่ที่สำคัญของตลาดหุ้น

ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกแนวทาง ที่เป็นมาตรการ ปกป้องนักลงทุนรายย่อย ไม่ให้เกิดการเสียเปรียบจากนักลงทุนต่างประเทศ ที่ใช้เครื่องมือ Short Selling กับ Program trading ในการซื้อขาย


ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกแนวทาง ที่เป็นมาตรการ ปกป้องนักลงทุนรายย่อย ไม่ให้เกิดการเสียเปรียบจากนักลงทุนต่างประเทศ ที่ใช้เครื่องมือ Short Selling กับ Program trading ในการซื้อขาย ซึ่งได้ทราบกันไปแล้ว แต่จะขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในจุดที่สำคัญ ว่า มาตราที่ออกมาจะช่วยปิดช่องโหว่อะไรได้บ้าง

ขอยกมาตรการที่น่าสนใจ ของการควบคุมดูแล Short Selling อันแรกเลย คือ 

การห้าม Short หุ้นที่มีมาร์เก็ตแคป ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาท ซึ่งหุ้นไซส์กลาง-เล็กที่มาร์เก็ตแคปต่ำกว่านี้ จะไม่มีสิทธิ ถูก short ได้เลย  

เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทย มีสัดส่วนวอลุ่มเทรดจากนักลงทุนต่างประเทศที่มากกว่า นักลงทุนในประเทศ หากมีการนำหุ้นขนาดกลาง-เล็ก มา short จะทำให้เกิดความเสียหายในหุ้นที่รายย่อยนิยมลงทุน กับ รายย่อยบางกลุ่มอาจจะเทขายหุ้นออกมา จนกลายเป็นความแพนิก ซ้ำเติมราคาที่ปรับตัวลดลงเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ตลาดเกิดความไม่สมดุล และเกิดความผิดปกติ

การห้าม Short หุ้นกลาง-เล็ก จะเป็นการป้องกันไม่ให้ หุ้นเหล่านี้ (พื้นฐานดี) ที่มีสภาพคล่องต่ำ ถูกทุบโดยไม่ทราบสาเหตุ

การเปิดให้มีธุรกรรม Short Selling ทุกรูปแบบ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะในภาวะตลาดที่เป็นปกติ แต่คำว่า “ภาวะปกติ” คือ ปริมาณการซื้อขายรายวัน ที่เป็น สัดส่วนนักลงทุนในประเทศ (รายย่อย+กองทุน) จะต้องมากกว่า สัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ

แต่ปัจจุบันมัน “ไม่ปกติ” เพราะสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติ มีมากถึงขนาดควบคุมทิศทางได้ทั้งหมด

การจะไปปิดไม่ให้ต่างชาติ เข้ามา หรือ การพยายามลดสัดส่วน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่สิ่งที่ควรทำคือ การเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ไม่มีกำลังพอที่จะไปรับแรงขาย หากมีการเปิดให้ Short ในหุ้นขนาดกลาง-เล็กได้

ขอยกตัวอย่าง เมื่อก่อนหุ้นพื้นฐานดี ขนาดกลาง-เล็ก ที่จะปรับตัวลดลง 10-30% เราอาจจะไม่ได้เห็นบ่อยนัก  ส่วนใหญ่จะมาจากการได้รับผลกระทบจากพื้นฐานที่เปลี่ยนไป อาทิ โรงงานไฟไหม้ คู่ค้ายกเลิกออเดอร์ หรือการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างพื้นฐานจากตัวบริษัทหรือ ถูก Disrupt จากภายนอก 

แต่ปัจจุบัน หุ้นเหล่านี้สามารถลงหนักได้แบบไม่ต้องมีข่าวร้ายอะไรมากระทบเลย เพียงแค่มีหุ้นให้ยืม short ก็สามารถทุบหุ้นให้ร่วงหนักในลักษณะที่เหมือนบริษัทจะเจ๊ง หรือมีปัญหาทางธุรกิจเลยก็ว่าได้

มาตรการนี้ถือว่าดีมาก เพราะมาโฟกัส การห้าม short หุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยเฉพาะเป็นหุ้นที่รายย่อยเล่น และมีกำลังพอที่จะซื้อลงทุนมากกว่า หุ้นขนาดใหญ่ 

อีกมาตรการถัดมาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่จะนำมาใช้ควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการขาย Short คือ

ในช่วงที่ผ่านมา มีหุ้นที่ปรับตัวลง -10% มีบ่อยครั้งจากการ short ทำให้ หากหุ้นลงมากกว่า -10% การต้องถูกบังคับให้คนที่ต้องการ short หุ้นตัวนั้น วางขายที่ฝั่ง offer  และไม่สามารถโยนซ้ายฝั่ง bid ในลักษณะที่ทุบหุ้นได้เลย โดยกำหนดให้ราคาขาย short ต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule)

นอกจากนี้ ยังกำหนดจำนวนการขาย Short ของหุ้นรายตัวในแต่ละวันไม่เกินเท่าไหร่ (daily limit) อันนี้ยังไม่มีตัวเลขออกมา 

รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่ถูก Short ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน (outstanding หรือ cover short) เพื่อเปิดเผยให้นักลงทุนทราบ

ข้อนี้สำคัญเช่นกัน เพราะเราจะสามารถเห็นออเดอร์ Short ที่ถือข้ามวัน ทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลในการตัดสินใจ ว่า หุ้น (พื้นฐานดี) ตัวนี้ไม่สมควรถูก Short หนัก ๆ ก็สามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจจะเข้าลงทุนได้หรือไม่

ส่วนมาตรการเพิ่มบทลงโทษบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ปล่อยให้ลูกค้ากระทำผิดในการ Short หุ้นจะต้องมีโทษเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เท่า เรียกว่า คูณ 3 ทั้งค่าปรับ และการให้หยุดพักการทำงาน หรือให้ออกจากอุตสาหกรรมนี้ไปเลย

สำหรับ มาตรการกำกับดูแล Program Trading ที่ออกมาป้องกันความผันผวนและผิดปกติของราคาหุ้น รวมถึงพฤติกรรมการเทรดหุ้นที่ไม่เหมาะสม และเอาเปรียบนักลงทุนที่ไม่ได้ใช้ Program Trading 

หัวข้อแรก การป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ : ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่มมาตรการควบคุมความผันผวนระหว่างวัน (dynamic price band ) กล่าวคือ หากมีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นรายตัว จาก Program Trading ที่มีความเร็วสูง (High-frequency trading:HFT) จนราคาหุ้นปรับตัว บวก หรือลบ เกิน 10% หากตรวจพบ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำการหยุดการซื้อขายหุ้นตัวนั้นแบบชั่วคราวทันที

ที่ผ่านมา รายย่อยเสียเปรียบ การส่งซื้อขายแบบ HFT การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเอาเครื่องมือมาตรวจจับ และสั่งให้หยุดการซื้อขายทันที จะทำให้ลดความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้นได้ 

ในกรณีที่มีการหยุดการซื้อขาย จากออเดอร์ HFT จะทำให้นักลงทุนรายนั้น หยุดหรือชะลอ การสร้างความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้น ๆ 

มาตรการถัดมา : การกำกับพฤติกรรมซื้อขายหุ้นที่ไม่เหมาะสม  ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเกณฑ์ และ ห้ามการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ในลักษณะที่มีผลกระทบต่อตลาดในเชิงปริมาณหุ้น และ การตั้งราคา

โดยจะมีระบบกลางในการดูแลการคัดกรองการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม (order screening) และจะทำการหยุดซื้อขายแบบอัตโนมัติ (auto halt)

เคสนี้หากใครจำได้ หุ้นตัวหนึ่ง ที่ใส่ออเดอร์ bid ซื้อหุ้น ตอน ATO จำนวน 1,500 ล้านหุ้น จากหลายบัญชี โดยใช้วงเงินซื้อในบัญชีเงินสด (cash account) ถือว่าเป็นจำนวนเกิน 15% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ความผิดปกติ ในการส่งออเดอร์ครั้งนั้น ทำให้เกิดการนำมาปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวให้ทันกับสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังป้องกันไม่ให้มีการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่เกินไป หรือ ชี้นำราคา ทั้งขึ้นและลง

เคสนี้เคยเกิดขึ้นกับหุ้นตัวหนึ่ง ที่มีออเดอร์วางขายฝั่ง offer จำนวน 20 ล้านหุ้น ประมาณ 5 นาที แล้วถอนออกไป 

จนทำให้รายย่อย แคปเจอร์ภาพ ออเดอร์ดังกล่าว เอามาตั้งข้อสังเกตในโซเชียล และตีความกัน ว่า ออเดอร์นั้น เป็นออเดอร์ที่จะทำการขาย Short โดยไม่มีหุ้น หรือที่เรียกว่า Naked Short …ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

แม้ทางบริษัทนั้น จะมีการชี้แจงแบบปฏิเสธ จากผู้ถือหุ้นใหญ่ ว่า ไม่ได้เป็นคนตั้งขายออเดอร์ดังกล่าว 

แต่ภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลายเป็นออเดอร์ 20 ล้านหุ้น นั้นเป็นของกองทุนหนึ่ง ที่ถือหุ้นอยู่ และทางการได้มีการทวงถามถึงเจตนาในการตั้งออเดอร์ดังกล่าวแล้ว ชักออกนั้นว่า ทำทำไม!? ซึ่งกองทุนไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ 

จนเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่กดดันให้ ผู้บริหารกองทุนรายนี้ ลาออกไปช่วงปลายเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา

มาตรการนี้เลยถูกนำมาใช้ร่วมกับการปกป้องนักลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก และมโนไปในทางที่ผิด 

อีกทั้งกฎใหม่จะบังคับให้มีการตั้งหรือถอนคำสั่ง จะต้องมีเวลาขั้นต่ำอย่างน้อย 0.6 วินาที เป็นต้น (ยังไม่สรุป) โดยเฉพาะ ออเดอร์ที่มาจาก Program Trading หรือ การส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT)

ส่วนอีกมาตรการถัดมา คือ การกำกับดูแลนักลงทุนที่ส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT) จะต้องขึ้นทะเบียน (register) และให้ข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกราย ก่อนใช้ HFT เพื่อที่จะตามจับได้ง่ายขึ้น และ รู้สถานะของคนที่ส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT

ส่วนข้อ 3 จะปรับลดวงเงิน ในการเทรดหุ้น หากส่งคำสั่งซื้อขายแบบไม่เหมาะสม 

นอกจากนี้ยังมีการรายงานชื่อผู้ถือหุ้นใน NVDR ตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไป เหมือนรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียน

ทั้งหมดนี้จะต้องผ่านบอร์ดก.ล.ต. และจะนำไปเฮียริ่งจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสำนักงานก.ล.ต. ก่อนพิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับประเด็น ที่มีข้อถกเถียงกันว่า มาตรการดังกล่าวเหล่านี้ จะทำให้ นักลงทุนต่างชาติ ทิ้ง หรือขนเงินออกจาก ตลาดหุ้นไทยนั้น 

ผู้เขียนขออนุญาต ให้มุมมองแบบนี้ ในแต่ละประเทศ ที่มีตลาดหุ้น จะต้อง มีกฎเกณฑ์ บังคับใช้ของแต่ละตลาด เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และความสมดุล ระหว่างนักลงทุนในประเทศ กับต่างประเทศ

โดยหลักใหญ่ นักลงทุนต่างชาติ จะต้องปรับและเล่นตามระเบียบ-กฎเกณฑ์ของตลาดหุ้นนั้น ๆ  แบบไม่มีเงื่อนไข

การจะย้ายไปเล่นตลาดหุ้นอื่นที่พัฒนาแล้ว มันค่อนข้างจะยาก เพราะกฎระเบียบของตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว มันมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างละเอียด และลึกกว่า รวมถึง มีผู้ลงทุนมีความสามารถอยู่มากพอสมควร

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการในครั้งนี้ ถือเป็นการปกป้องนักลงทุนรายย่อย ตามเจตนารมณ์ ที่มีอยู่ และเป็นไปในลักษณะที่เป็นกลางมากกว่า เจตนาของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  ออกมาโพสต์ สนับสนุน ยกเลิก Short Selling-Program Trading   ถือเป็นการหักดิบจนเกินไป ซึ่งมาตรการของ นาย กิตติรัตน์ จะเป็นการไล่นักลงทุนต่างชาติมากกว่า มาตรการการปรับปรุงเกณฑ์ของตลาดให้อยู่ร่วมกันได้

ประเด็นสำคัญคือ การออกมาตรการครั้งนี้ จะทำให้รายย่อยเล่นง่ายขึ้น พอมีกำไร (ไม่ใช่ขาดทุนอย่างเดียว) ก็สามารถมีแรงที่จะมารับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติได้ 

ถ้าเมื่อใดก็ตาม สัดส่วนนักลงในประเทศ (รายย่อย+กองทุน) มีสัดส่วนเกิน 40% ของวอลุ่มเทรดในแต่ละวัน และเฉลี่ยทั้งปี นั้นจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติของตลาดหุ้นไทย

ทั้งหมดนี้ จะต้องค่อย ๆ พัฒนา จากกฎเกณฑ์ของทางการที่ออกมาในลักษณะนี้ และไม่ใช่การยกเลิก หรือห้ามมี แต่ควรมี และ ทางการเรากำกับดูแลได้ จึงจะเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนไทยในอนาคต

การลดความผันผวนระยะสั้น จากกฎเกณฑ์ และมาตรการที่ปรับปรุงจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้เกิดนักลงทุนระยะกลาง ระยะยาว ลงทุนในหุ้นที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศ และก้าวไปสู่ความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยฐานทุนจากตลาดหุ้น เป็นตัวสร้างการขยายธุรกิจ จนเป็นที่หมายตาของต่างชาติในอนาคต

ขอฟันธงเลยว่า “นักลงทุนต่างชาติ” จะไม่ทิ้งหุ้นไทย ด้วยเหตุผลของการปรับปรุงเกณฑ์และมาตรการจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ 

ตราบใดที่ทางการยังไม่ปรับให้ bid-offer เหลือช่องละ 0.01 บาท ฝรั่งจะไม่หนีไปไหน ถ้าหนึ่งช่อง เทรดแล้วได้กำไร ฝรั่งยังอยู่แน่นอน..ครับ

ธิติ ภัทรยลรดี (แทน)

Back to top button