ตำรวจกับสังคมไทย

กรณีบิ๊กโจ๊กหรือพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ได้ถูกเกมการเมืองในวงการตำรวจไทยสกัดทางขึ้นเป็น ผบ.ตร. อาจจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจ


กรณีบิ๊กโจ๊ก หรือพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ได้ถูกเกมการเมืองในวงการตำรวจไทยสกัดทางขึ้นเป็น ผบ.ตร. อาจจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจ แต่สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าดราม่าดังกล่าวเป็นเพียงละครชีวิตที่เหมาะจะเป็นพล็อตภาพยนตร์ฮอลลีวูดมากกว่า เพราะเรื่องนี้ว่าไปแล้วคือภาพสะท้อนการแก่งแย่งชิงอำนาจกันของหน่วยงานรัฐตามปกติเท่านั้น

องค์กรตำรวจไทยนับตั้งแต่มีการตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นมาเป็นองค์กรรัฐที่ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรงในสมัยทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี  ถือว่าเป็นองค์กรที่ขึ้นกับการเมืองและการแต่งตั้งผบ.ตร.จึงแยกไม่ออกจากอำนาจการเมืองของภาครัฐอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้แม้ว่าจะมีก.ตร. เอาไว้บังหน้าก็ตาม เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ก.ตร.นั้นเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้เสมอ

โครงสร้างขององค์กรตำรวจไทยในปัจจุบันภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติถือว่าเป็นหน่วยงานที่แสดงอำนาจรัฐได้อย่างเต็มที่ไม่แพ้หน่วยงานรัฐอย่างกองทัพ เนื่องจากจำนวนบุคลากรของตำรวจมีมากกว่า 3 แสนกว่าคน ซึ่งคิดเป็น 1 ต่อ 200 คนของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับประชาชนในฐานะด่านหน้าของอำนาจรัฐ แม้จะยังคงไม่ได้สร้างวัฒนธรรมแบบรัฐตำรวจขึ้นมาด้วยขีดจำกัดทางด้านกฎหมายและความตื่นตัวของพลเมืองของรัฐไทย  แต่ความหมายที่เข้าใจกันของคนในสังคมไทยนั้น เมื่อเอ่ยถึงตำรวจทำให้เข้าใจได้ว่าภารกิจของตำรวจไทยนั้นตรงกับรากศัพท์ภาษากรีกโบราณที่ว่า Polis ซึ่งมีความหมายบ่งบอกถึงภารกิจของตำรวจในฐานะกองหน้าของอำนาจรัฐในเขตชุมชนเมืองในการกำกับพฤติกรรมของผู้คนโดยผ่านการใช้กฎหมาย

โดยทั่วไปแล้วทฤษฎีทางด้านตำรวจไทยมักจะถือว่าตำรวจคือประชาชนและประชาชนคือตำรวจเพื่อเน้นให้เห็นถึงความสำพันธ์ของตำรวจกับประชาชนที่ต้องปรับความเข้าใจต่อกันโดยผ่านขบวนการที่เรียกว่าชุมชนสัมพันธ์  แต่ในข้อเท็จจริงช่วงห่างระหว่างตำรวจกับประชาชนยังคงเกิดขึ้นเสมอเพราะตำรวจมักจะตกเป็นเครื่องมือการใช้อำนาจของรัฐในการกำกับและปราบปรามประชาชน

นอกจากนั้นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายก็ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าตำรวจมีพฤติกรรมไม่ต่างจากโจรที่อยู่ในเครื่องแบบโดยมือข้างหนึ่งถือปืนอีกข้างหนึ่งถือกฎหมาย ไม่ว่าพฤติกรรมเลว ๆ ของตำรวจบางคนจะถูกโต้แย้งและแก้ต่างว่าเป็นการกระทำของตำรวจส่วนน้อยที่นอกแถว แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจไทยตกอยู่ในสภาพ “ความชั่วร้ายที่จำเป็นของอำนาจรัฐที่หลบเลี่ยงไม่พ้น”

บทบาทในการใช้อำนาจรัฐของตำรวจไทยในการปราบปรามประชาชนแม้จะไม่เข้มข้นเหมือนรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งขวาจัดและซ้ายจัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่ตลอดมา

เส้นทางขึ้นสู่อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบางคนอาจจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือเต็มไปด้วยขวากหนามดังเช่นกรณีของบิ๊กโจ๊ก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่เกี่ยวกับเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด  เพียงแต่ดราม่าที่เกิดขึ้นอาจจะเหมาะกับคนที่สนใจเรื่องการไต่เต้าขึ้นสู่บันไดของอำนาจตามปกติของสังคมแบบอำนาจรัฐนิยมเท่านั้น

Back to top button