EPS ปี 67 ยังโต 2 หลัก มี.ค.โอกาสสะสม

จบเทศกาลประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 4 และงวดประจำปี 2566 ไปแล้ว ตัวเลขที่ออกมาถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะจะมีผลคาบเกี่ยวมาในปี 2567


เส้นทางนักลงทุน

จบเทศกาลประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 4 และงวดประจำปี 2566 ไปแล้ว ตัวเลขที่ออกมาถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะจะมีผลคาบเกี่ยวมาในปี 2567 ด้วย

เนื่องจาก Bloomberg Consensus ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS ปี 2567 ลงเหลือ 95.3 บาทต่อหุ้น ลดลงจากช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ที่ 105 บาทต่อหุ้น เป็นผลจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งมีผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าคาด โดยกำไรงวดไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดถึง 30%

ฝ่ายวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS Research เป็นอีก 1 ค่ายที่ระบุชัดเจนว่า อยู่ระหว่างการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ EPS ปีนี้ลง โดยอาจเห็นตัวเลขจบที่บริเวณ 92-93 บาทต่อหุ้น

ภายใต้เหตุผลว่าบริษัทจดทะเบียนทยอยรายงานกำไรงวดไตรมาส 4 ปี 2566 ออกมาแล้ว 391 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (MARKET CAP) อยู่ที่ 1.66 แสนล้านบาท ลดลง 36.6% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 23.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน

จึงทำให้ EPS ปี 2566 ล่าสุดอยู่ที่ 82.6 บาทต่อหุ้น มีอัตราการเติบโตเพียง 1.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน ส่วนประมาณการ EPS ปี 2567 เบื้องต้นหากจบที่ 93 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นอัตราการเติบโต 12.6% จากปีก่อน

หากดู EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คือระหว่างปี 2556-2566 พบว่า EPS ไม่สามารถยืนทะลุ 100 บาทต่อหุ้น ได้เลยในระยะเวลาดังกล่าว

โดยในปี 2556 อยู่ที่ระดับ 91.5 บาทต่อหุ้น จากนั้นขยับลงเหลือ 75.4 บาทต่อหุ้น และ 68.7 บาทต่อหุ้น ในปีถัด ๆ มา จนกระทั่งปี 2559 EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทยสามารถไต่ระดับสูงขึ้นได้ที่ 91.3 บาทต่อหุ้น, 97.9 บาทต่อหุ้น และ 95.2 บาทต่อหุ้น เป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน

ในปี 2562 EPS ของบริษัทจดทะเบียนไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 88.1 บาทต่อหุ้น ปี 2563 อยู่ที่ 53.2 บาทต่อหุ้น ต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รับพิษสงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนปี 2564 อยู่ที่ 86 บาทต่อหุ้น ปี 2565 อยู่ระดับ 81.5 บาทต่อหุ้น ขณะที่ปี 2566 EPS อยู่ระดับ 82.6 บาทต่อหุ้น เติบโตขยับดีกว่าปีก่อนหน้า 1.3% โดยในปี 2567 นี้ หาก EPS เป็นไปตาม ASPS Research ประมาณการคือ 93 บาทต่อหุ้น เท่ากับมีการเติบโตราว 12.6% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงข้อมูล Consensus ของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ซึ่งได้ทำการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 26 สำนัก ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนปี 2567 ที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งผู้ที่ถูกสำรวจให้ความสำคัญมาก หากมีแนวโน้มที่ดีก็จะเป็นปัจจัยบวก

ปัจจัยรองลงมาคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ตามด้วยดอกเบี้ยและเศรษฐกิจภายในประเทศ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) จากต่างประเทศสู่ตลาดหุ้นไทย

ผลสำรวจขณะนั้นคาดการณ์ EPS ปี 2567 ของตลาดเฉลี่ยที่ 95.62 บาท ปรับลดจากผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 99.47 บาทต่อหุ้น และคาดว่า EPS Growth ของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 12.32%

รวมทั้งยังคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ว่าจะขึ้นไปปิดสิ้นไตรมาสแรกที่ 1,476 จุด และเมื่อมองตลอดปี จะแกว่งตัวในกรอบ 1,340 ถึง 1,612 จุด โดยไปปิดสิ้นปี 2567 ที่ 1,590 จุด

เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน คือเดือนมีนาคม จะสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2567 SET Index ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบล่าง ฟันด์โฟลว์ ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะมียอดเป็นสุทธิซื้อสะสมกว่า 2,862 ล้านบาท แต่หากนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ยังเป็นยอดขายสุทธิถึง 28,843.24 ล้านบาท

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ เมื่อสิ้นสุดเทศกาลปรับลด EPS แล้ว SET Index จะเป็นอย่างไร จะถูกปรับลดลงตามมาด้วยมากน้อยแค่ไหน

หลาย ๆ บริษัทหลักทรัพย์ เช่น ASPS Research ทำนายว่าเดือนมีนาคมนี้ ความผันผวนของ SET Index ค่อย ๆ สงบลง และน่าจะทยอยฟื้นขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เพราะเป็นช่วงรอการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในเดือนเมษายน จากความคาดหวัง 3 ส่วนหลัก ๆ คือ

1.คาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินเร็วขึ้น สะท้อนได้จาก Bond Yield ไทยระยะ 1 ปี ถึง 5 ปี ลงมาต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ทั้งสิ้น

2.คาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังเร็วขึ้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 เร็วขึ้น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ และทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

3.คาดหวังความเชื่อมั่นของนักลงทุน และปริมาณการซื้อขายค่อย ๆ กลับมา หลังทางการมีมาตรการที่ชัดเจน ในการกำกับดูแลตรวจสอบการขายชอร์ต (Short selling) และโปรแกรมเทรดดิ้ง (Program trading) รวมถึงอาจเพิ่มชั่วโมงซื้อขายจาก 4 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน เป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคาดเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 นี้ เข้ามาหนุน TURNOVER ของ SET ให้มีโอกาสกลับมาสูงกว่า 70% ต่อปี

ดังนั้น แม้จะมีการทยอยปรับ EPS ปี 2567 ลง แต่ด้วยปัจจัยที่รอคอยเหล่านี้ จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย จึงมองกรอบดัชนีเป้าหมายปี 2567 ที่ 1,580-1,620 จุด และการที่ SET Index ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบล่าง สะท้อนโอกาสในการทยอยซื้อสะสมหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นรับมาตรการภาครัฐ (AOT, BDMS, CPN, SCCC) หุ้นเตรียมรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (SPALI, MTC) หุ้นหวังเศรษฐกิจจีนฟื้น (PTTGC)

กล่าวโดยสรุปก็คือ ปี 2567 คาดกำไรมีโอกาสฟื้นกลับมาได้ 2 หลัก หนุนให้ SET INDEX น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวต่อได้

Back to top button